ในฐานะนักประพันธ์ บัลซัคยิ่งใหญ่จนได้รับสมญา ‘นโปเลียนแห่งอาณาจักรวรรณกรรม’ จักรพรรดินักเขียนผู้นี้ตั้งปณิธานไว้ว่า ‘สิ่งที่นโปเลียนไม่อาจพิชิตด้วยกระบี่ ข้าจักทำให้ลุล่วงด้วยปากกา’ และเขาก็พิชิตโลกทั้งโลกได้ด้วยความสามารถในเชิงประพันธ์
บัลซัคสร้างตัวละครมากกว่าสองพันห้าร้อยตัว โลดแล่นอยู่ใน ‘นาฏกรรมชีวิต’ อันเป็นชื่อรวมงานประพันธ์กว่าร้อยเล่มของเขา ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทละครและความเรียง หากถามนักวิชาการ นักวิจารณ์ ชาวฝรั่งเศสทั่วไปว่า นวนิยายเรื่องใดที่แสดงตัวตนของบัลซัคโดยถ่องแท้ คำตอบจะเป็นเอกฉันท์ว่า ‘พ่อกอริโยต์’
บัลซัคมิได้ใช้ความเปรียบมนุษย์กับสัตว์ประเภทต่าง ๆ อย่างไร้ความหมาย เขากำลังบอกผู้อ่านว่า มนุษย์ก็คือสัตว์โลกนั่นเอง บัลซัคเห็นว่า สังคมมีต่างไปจากธรรมชาติ สังคมมีอิทธิพลต่อมนุษย์ เช่นเดียวกับที่ธรรมชาติมีต่อสัตว์ ตามทฤษฎีของเฌอ๊อฟรอย แซงต์-อิแลร์ (Geoffroy Saint-Hilaire) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสศตวรรษที่ 19 ซึ่งบัลซัคอุทิศนวนิยายเรื่องนี้ให้