รางวัลนวนิยายดีเด่น หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕
เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรท์ พ.ศ. ๒๕๓๗
เป็นหนังสือที่หลายฅนเห็นขนาดเล่มแล้วอาจถอดใจ แต่เรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างตื่นเต้นหักมุมชนิดคาดไม่ถึง ก่อนจะจบลงอย่างสะเทือนใจ นอกเหนือจากภาษาที่สวยงามบ่งบอกถึงความประณีตละเอียดลออของผู้แต่งนั้น ทำให้อ่านแล้ววางไม่ลงจริงๆ
‘นิพพานฯ’ เริ่มต้นโดยเปิดตัว ‘ทวน’ และ ‘แม่’ ที่มีสภาพจิตใจไม่ปรกติ หากก็มิได้เป็นพิษภัยแก่ฅนอื่น และทวนเองก็ไม่ได้รู้สึกผิดแปลกอะไรที่ต้องอยู่กับแม่ตลอดเวลา จะมีบ้างก็อายฅนบางเวลาที่แม่ทำอะไรแปลกๆ เท่านั้น
สองฅนแม่ลูกจากบ้านมาเร่ร่อนตามถนนเพราะแม่อยากตามหาพ่อ หลังจากระหกระเหินอยู่ตามลำพัง สองฅนแม่ลูกก็ได้พบกับฅนกลุ่มหนึ่ง ด้วยน้ำใจไมตรีที่มีต่อกันอย่างที่ไม่เคยได้รับจากฅนแปลกหน้าฅนใดมาก่อน ทำให้แม่ตัดสินใจพาทวนไปอยู่ด้วยในยามค่ำมืดดึกดื่น
ทางเข้าที่สลับซับซ้อนทำให้ทวนตื่นเต้นตามประสาเด็กมากกว่าจะคิดหาเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด อีกทั้งการได้เห็นโบกี้รถไฟที่ทิ้งรกร้างอยู่กลางสนามแห่งนั้นถูกฅนนับสิบจับจองเป็นบ้าน ก็ยิ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจ หากเช้าวันต่อมา ทวนก็ได้ทราบว่าตัวเองอยู่กลางนิคมฅนป่วยโรคเรื้อน โรคผิวหนังที่ฅนในสังคมรังเกียจ
ทวนจะทำอย่างไร เรื่องราวชีวิตที่เหมือนจะท่องอยู่ในความฝันของแม่และทวนจะจบลงอย่างไร ลองหาอ่านดู
จากคอลัมน์ : ชวนน้องอ่านหนังสือ โดยพี่นักอ่าน
หนังสือพิมพ์มติชน
วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐
* * *
‘สิ่งที่กรรมการประทับใจมากกับหนังสือเล่มนี้คือ นิพพานฯ เขียนเรื่องนี้ได้อย่างประณีตในการเขียนถึงเหตุการณ์หนึ่ง บุคคลหนึ่ง หรือวัตถุสิ่งหนึ่ง เขาจะไม่ทิ้งเลย เขาจะกลับมาพูดถึงอีกเสมอ ทุกอย่างมีความสำคัญ ทุกเหตุการณ์ ทุกบุคคล ทุกๆ สิ่งมันสัมพันธ์กับโครงเรื่องใหญ่อย่างแนบแน่น เขาไม่ได้กล่าวถึงสิ่งใดอย่างสะเปะสะปะต้องยกให้เขาเลยในความเป็นเอกภาพของเรื่อง’
‘ทุกวันนี้เห็นว่าเราเจริญขึ้นไม่น้อย ทั้งด้านเนื้อเรื่อง ศิลปะการแต่งหรือวรรณศิลป์ ที่ให้สาระประโยชน์ในฐานะที่เป็นนวนิยาย ซึ่งเป็นเครื่องบันทึกชีวิตมนุษย์เหมือนคู่มือการศึกษาโลก ศึกษาชีวิต ศึกษาสังคม โดยสรุปง่ายๆ ว่าเห็นพัฒนาการของนวนิยายที่ส่งเข้าประกวด โดยเฉพาะเล่มที่ได้รับรางวัลดีเด่นนั้น คู่ควรกับการได้รับรางวัลทุกประการทีเดียว—‘
ศาสตราจารย์ คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส
ประธานคณะอนุกรรมการตัดสินนวนิยาย
การประกวดหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕