เมื่อ ‘ผีเสื้อ’ ขยับปีก
Lit report
เรื่อง : พนิดา วุสุธาพิทักษ์

แม้คำลือจะหนาหูตามเวบบอร์ดสาธารณะที่ว่า “สำนักพิมพ์ผีเสื้อเลิกกิจการแล้ว” จะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่คอยนวดเค้นอวัยวะภายใต้ทรวงอกเบื้องซ้ายจนทำให้บรรณาธิการผู้ยิ่งยงอย่าง มกุฏ อรฤดี จำเป็นต้องออกมาปรากฏตัวต่อหน้าธารกำนัลในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ผ่านมา เพื่อบอกกล่าวเล่าสถานะในความเป็นจริง หลังจากการไปปฏิบัติภารกิจในโครงการวางระบบหนังสือของชาติให้กับรัฐบาล ว่าถึง (จะไล่ให้ตาย) อย่างไรเสีย “สำนักพิมพ์ผีเสื้อนี้ก็จะยังอยู่ และจะอยู่ดี ถึงแม้ว่าในหัวใจของผมจะมีลูกโป่งอยู่อีกหนึ่ง ลูกก็ตาม”
          แต่ลำพังแค่ภมรวรรณกรรมตัวเล็กๆ ออกมาขยับปีก คงไม่ใช่เรื่องที่ใครต้องตระหนกตกตื่นด้วยความหฤหรรษ์มากนัก
          หากไม่เพราะเหตุว่านี่เป็นวาระของการออกมาพบปะสาธารณชนเป็นครั้งแรกในห้วงระยะเวลา ๓๐ ปี นับแต่แรกเริ่มของการก่อร่างสร้างตัว
          ถึงมันจะดูคล้ายเป็นอาการ ‘ขัดขา’ ต่อเจตนารมณ์ที่ตนเองยึดมั่นมาแต่หนักลง
          “ที่ไม่เคยจัดงานอะไรอย่างนี้ เนื่องจากผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการลดราคาหนังสือประจำปี เพราะการลดราคาหนังสือประจำปีเป็นการทำให้ระบบตลาดหนังสือมันแปรเปลี่ยนไป”
          กระนั้น บางครา…ผีเสื้อก็จำเป็นต้องทำตัวเอิกเกริกออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง เพื่อประกาศให้รับรู้โดยถ้วนทั่วว่าเวลาแห่งการสรรสรรค์ (ทางปัญญา) ร่วมกันนั้นมันยังมีอีกยาวไกลนัก
          “ข้อใหญ่ใจความในการทำหนังสือของสำนักพิมพ์นี้คือ ไม่ได้ทำเพื่อเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ ไม่ได้ทำเพื่อที่จะร่ำรวย แต่ทำเพื่อที่จะกำหนดอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำหนดให้มีการจัดกฎเกณฑ์ว่าเราควรจะสร้างอะไรไว้ในโลกนี้ก่อนที่จะตายไป และสิ่งที่จะเก็บไว้ได้ดีที่สุดก็คือ หนังสือ” มกุฏพูดถึงสิ่งที่คล้ายๆ จะเป็นเหตุเป็นผลให้กับปรัชญาในการทำงานแต่ละชิ้นของสำนักพิมพ์เขา ที่ไม่ได้มุ่งเน้นกำไรเป็นเป้าหมายใหญ่ หากมีอุดมการณ์ส่วนตนบางอย่างที่เพาะบ่มจนกลายเป็นลักษณะเฉพาะตัว
          “ผีเสื้อจะทำอะไรยังไงก็ได้ แต่ออกมาแล้วต้องดี”
          ภาษาบ้านๆ เขาเรียก ถึงช้า…แต่ชัวร์
          ช้าที่ว่ามันแค่ไหนกันน่ะหรือ…ก็ประมาณว่า หากสัญญิงสัญญากันว่า ‘เร็วๆ นี้’ นั่นหมายถึงระยะเวลา ๑ ถึง ๗ ปีเท่านั้น (เอง) น่ะสิ
          ที่ช้า…เพราะความละเอียดลออในการรวบรวมและคัดสรรต้นบับนั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยสำมะคัญรองลงมาก็คืออายุที่ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลข เพราะเมื่อบวกรวมจำนวนบรรณาธิการทั้งหมดของผีเสื้อเข้าด้วยกัน อายุอานามก็ปาเข้าไปเหยียบพันปีพอดี (อันนี้เป็นการเปรียบอุปลักษณ์แบบเกินจริง)
          สำหรับคนที่รู้จักมักคุ้นในอัธยาศัยด้วยฐานะของคอวรรณกรรมเยาวชน คงไม่มีใครแปลกใจว่าทำไมผีเสื้อถึงยังคงดำรงอยู่ได้ในรูปร่างแบบนี้ ในที่ทางเล็กๆ ของคนทำงานจริง ซึ่งไม่เคยเลยที่จะอ้างว้างโดดเดี่ยว
          ด้วยว่าคุณค่าที่แท้ของงานวรรณกรรม (ไม่ว่าจะแปลหรือไม่แปล) ย่อมมิได้คงอยู่เพียงชั่ว ๑๐ ปีหรือ ๒๐ ปี อย่างที่ผีเสื้อมักอุทิศหนังสือในหน้าท้ายเพื่อมอกกล่าวเล่าความเชื่อมั่นที่ว่า “การทำหนังสือดีก็เสมือนสร้างโบสถ์วิหาร”
          ทว่าท่ามกลางกระแสธารในธุรกิจการบริโภคที่วรรณกรรมแปลจากต่างประเทศถูกผลิตออกมาวางเกลื่อนแผง (โดยเฉพาะที่เมดอินจากเกาหลี)
          ในยุคที่ผู้คน (ดูเหมือน) ไม่ใส่ใจจะสร้างโบสถ์สร้างวิหารมากไปกว่าการได้อินเทรนด์ไปกับแฟชั่นทางวรรณกรรมอย่างฉาบฉวย
          บางที หลายคนอาจคิด…หรือผีเสื้อถึงกาลต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด อย่างที่หนึ่งในหัวเรือใหญ่อย่างมกุฏเองก็เคยปรารภอยู่บ่อยๆ ว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
          แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีคติหนึ่ง ที่ผีเสื้อยังคงยึดมั่นในแนวทางเป็นนักหนา
          นั่นคือ การไม่แก้ปัญหาเฉพาะตน หากมุ่งเน้นไปที่ระบบเป็นหลักใหญ่
          “ผมเชื่อว่าระบบหนังสือขาดอาชีพบรรณาธิการต้นฉบับไม่ได้ โดยเฉพาะในด้านวรรณกรรมแปล เพราะว่าปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มมีหนังสือแปลเข้ามามาก มากเสียจนเรียกว่า มากเกิน หนังสือที่ผลิตขณะนี้ไม่ทราบผมจะเข้าใจเอาเองหรือเปล่าว่า แปดสิบเปอร์เซ็นต์เป็นหนังสือแปล แต่ถามว่าหนังสือในจำนวนแปดสิบเปอร์เซ็นต์ที่ออกไป มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ผ่านการตรวจสอบและมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ผ่านการตรวจสอบอย่างแล้ว แต่ตรวจสอบอย่างไม่ละเอียดรอบคอบพอ และมีกี่เปอร์เซนต์ของจำนวนนั้นที่ตรวจสอบแล้ว แต่ผิด
          “ถ้าเกิดว่าคนที่ติดตามกระแสในเรื่องนี้มาคงได้พบข่าวทำนองนี้บ่อยๆ ว่ามีหนังสือสำคัญหนังสือที่สอนในมหาวิทยาลัย หนังสือที่อาจารย์แปลเกิดผิดพลาด เพราะฉะนั้นข่าวสารที่เราได้รับ กับมนุษย์โลกชาติอื่นที่เขาได้รับมันตรงข้ามกัน ทั้งที่เอามาจากตำราเล่มเดียวกัน หรือแม้แต่กระทั่งที่บอกว่านิกาย Mormon (นิกายหนึ่งในศาสนาคริสต์ ซึ่งช่วงหนึ่งมีการเข้าใจผิดว่าเป็นนิกายที่สอนให้คนไทยเปลี่ยนศาสนามานับถือพระเจ้า-ผู้เขียน) เป็น Mormon เหมือนกัน เอามาจากไบเบิลอันเดียวกัน แต่ปรากฏว่าคนแปลแปลผิด Mormon ในเมืองไทยมันปฏิบัติผิดจาก Mormon มนุษย์อื่นเขา แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีการแปลและการแปลงคัมภีร์อัลกุรอานในภาคใต้ฉบับหนึ่ง ให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่คือตัวอย่างที่ดีเลยของการไม่ตรวจแก้ต้นฉบับที่ดีไม่ว่าจะโดยเจตนาอย่างไรก็แล้วแต่”
          ฟังๆ ดูเหมือนเป็นการพูดจาให้ตัวเองดูดีเกินไป แต่หากพิจารณาอย่างลงลึก แทนที่ผู้ใหญ่จะมานั่งห่วงกังวลว่า หนังสือแปลไหลทะลักเข้ามาในประเทศไทยจะทำให้เยาวชนของเราซึมซับรับเอาวัฒนธรรมต่างด้าวเข้ามามากจนเกินพอดี เราน่าจะได้มีการหันกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเองให้แน่ชัดเสียก่อนเป็นเบื้องต้นว่าระบบหนังสือของประเทศที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่มีประสิทธิภาพดีพร้อมแค่ไหน เพียงไร ในการที่จะทำหน้าที่รองรับการถ่ายเทเข้ามาผ่านกลไกลของสิ่งที่เรียกว่า ‘สินค้าทางวัฒนธรรม’
          “ผมคิดว่าไม่ใช่ความเก่งกล้าสามารถอะไรของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ที่ได้คิดว่าสิ่งเหล่านี้มันจำเป็น แต่ด้วยความรู้สึกส่วนตัวว่าเมื่อเวลาผมอ่านหนังสือแปลเล่มไหน บางครั้งผมไม่รู้เรื่องจริงๆ เพราะฉะนั้นผมจึงสงสารเด็กที่เติบโตมาด้วยความไม่รู้เรื่อง และถึงแม้จะรู้เรื่องก็รู้เรื่องไม่เหมือนกับมนุษย์ชาติอื่นเขารู้เรื่อง สิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่สำนักพิมพ์ทั้งหลายจะต้องคิดให้ดี
          “เราอย่าคิดเพียงแต่ว่าหนังสือจะต้องออกมาภายในสาม เดือน ห้าเดือน หรือต้องออกวันนี้พรุ่งนี้ โดยที่ผิดถูกช่างหัวมัน ขอให้ขายเอาสตางค์ไว้ก่อน เพราะนี่มันคือการฆาตกรรม ผมบอกได้เลยนี่คือฆาตกรรม มันยิ่งกว่าการฉีดยาพิษอะไรเข้าไปให้เด็กทีละน้อย แต่นี่มันคือการกระทำต่อกันซึ่งๆ หน้า”
          และเพราะไม่อยากปล่อยให้เด็กไทยต้องโดนฆาตกรรมไปโดยที่ตัวเองได้แต่ยืนมองด้วยความเวทนา
          “แม้แต่การปูผ้าปูที่นอนในโรงแรมยังสอนกันในหลักสูตรมหาวิทยาลัยเลย แล้วไอ้อาชีพบรรณาธิการที่ต้องรับผิดชอบคนทั้งประเทศ ทำไมเรากลับไม่เคยมีใครสอน”
          นั่นจึงเป็นที่มาของกรเข้าไปร่วมไม้ร่วมมือเปิดคอร์สอบรมบรรณาธิการต้นฉบับวรรณกรรมแปลกับคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับจนถึง ณ วันนี้สามารถผลิตกำลังคนออกมาได้แล้วถึง ๔ รุ่น
          งานนี้มี ดร.วัลยา วิวัฒน์ศร จากภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญในการผลักดัน
          ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการจัดอบรมขึ้นหลายครั้ง นำมาสู่ความมุ่งมันที่จะสร้างวิชาชีพบรรณาธิการต้นฉบับแปลแบบเต็มขั้น โดยตั้งแต่ปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไป วิชานี้จะมีการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
          ดร.วัลยา เล่าย้อนถึงที่มาที่ไปว่า “ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาพอดีกันกับที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เรากำลังเปิดปริญญาโท วิชาแปล ภาคพิเศษ คือเรียนในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ทางดิฉันกับคุณมกุฏ ซึ่งเห็นความสำคัญของวิชานี้ เราก็เลยเสนอให้มีวิชาตรวจแก้ต้นฉบับในระดับปริญญาโท อันที่จริงแล้วการเรียนวิชาแปลมันจะต้องเป็นระดับสูง เพราะว่าผู้ที่จะทำงานแผลจะต้องเก่งภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาแม่ซึ่งเป็นภาษาที่เราใช้แปล”
          ถึงจะการมีประสบการณ์ในการแปลงานมาอย่างช่ำชอง แต่ ดร.วัลยายังคงย้ำเน้นว่า อย่างไรเสียก็มิอาจละเลยความสำคัญในงานบรรณษธิการหนังสือ “สำหรับดิฉันแล้ว ขั้นตอนการตรวจแก้ต้นฉบับนั้นถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำงานแปล และเป็นขั้นตอนที่จำเป็นถ้าไม่มีขั้นตอนนี้ก็ไม่ถือว่างานแปลนั้นเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย
          การจะเปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพในสายพานการผลิตหนังสือ อาจจะต้องรอให้เกิดสถาบันที่มาทำหน้าที่วางระบบและรื้อดโครงสร้างทุกอย่างอย่างจริงจัง ซึ่งนับว่าเป็นภาระที่หักหนาสาหัสอยู่เอาการและเกินกว่ากำลังใครคนใดคนหนึ่งจะเป็นคนออกแรงขับเคลื่อนอยู่เพียงลำพัง
          กระนั้น อย่างน้อย การทำงานเล็กๆ ในที่ทางของตนเองอย่างแข็งขันของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ก็นับเป็นหลักประกันได้อย่างหนึ่งว่า หนทางข้างหน้าที่กำลังก้าวเดินไปคงไม่แล้งไร้ซึ่งความหวังกันจนเกินไปนัก
          “ประเทศไทยต้องการนักอ่านที่สนใจในงานบรรณาธิการ ต้องการผู้ที่สนใจหนังสืออย่างดูแลเอาใจใส่เพราะถ้าเกิดว่าเราถือว่าไม่ใช่ธุระมันก็คงจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผมไม่อยากให้เราสิ้นลมหายใจไปในสภาพที่ระบบหนังสือมันยังเป็นอย่างนี้อยู่ ขอให้เราได้ตายไปในเวลาข้างหน้าโดยที่เป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบหนังสือบ้าง แม้สักเล็กน้อยก็ยังดี แล้วถ้าเกิดเราได้ตายไปด้วยสภาวะอย่างนั้นก็คงจะดีมาก”
          มกุฏ อรฤดี วางความปรารถนาอันเปี่ยมด้วยศรัทธาก้อนนั้นลงชั่งน้ำหนักกับโลกแห่งการแข่งขันเชือดเฉือนอันหนักหน่วง ก่อนจะขอกลับไปอยู่เบื้องหลัง
          พันธกิจในวงการวรรณกรรมยังไม่เสร็จสิ้น

 

เรียบเรียงจาก
A day weekly ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒๔
วันที่ ๕-๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

BUTTERFLY EFFECT

หนังสือราคาพิเศษนี้ จำหน่ายเฉพาะใน “ร้านหนังสือ” ไม่ขายในงานมหกรรมลดราคาหนังสือแห่งชาติ
โปรดซื้อหนังสือทุกเล่มจาก “ร้านหนังสือ” เพื่อให้ระบบหนังสือของประเทศไทยเติบโตยั่งยืน
          ๒ ประโยคนี้อยู่บนเข็มขัดที่คาดอยู่บนหน้าปกของหนังสือ ดอน กิโฆเต้ฯ ฉบับปกอ่อน, เด็ก ๒๐๐ ปี, และ ชิอัตสึ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อในช่วงประมาณครึ่งปีหลังมานี้ ไม่ว่าในแง่มุมไหนการประกาศเจตนารมณ์แบบนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ เป็นแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการหนังสือที่มีธรรมเนียมปฏิบัติประจำปีกลายๆ ของสำนักพิมพ์น้อยใหญ่ต่างๆ ที่ต้องเร่ง “ปั๊ม” หนังสือปกใหม่ออกมาเพื่อให้ทันวางขายในงานหนังสือประจำปีทั้ง ๒ ครั้ง
          “นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จะไม่มีหนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อในงานพวกนี้ เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้เราไม่เคยบอกใครอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือประกาศให้ใครรู้ว่าหนังสือเล่มใหม่ๆ ของผีเสื้อไม่มีวางขายในนั้น แต่ว่าตอนนี้เราทำรายการออกมาเลยว่าหนังสือที่ออกก่อนหน้านี้ ๕ เดือน ๗ เดือน จะไม่มีขายในงาน ถ้าเกิดว่าคุณอยากอ่านก็ช่วยกรุณาแวะไปที่ร้านขายหนังสือสักหน่อย ร้านขายหนังสือจะได้มีสตางค์ เด็กขายหนังสือจะได้มีเงินเดือน ร้านหนังสือเล็กๆ จะได้ไม่ต้องปิด” มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ อธิบายถึงที่มาที่ไปของนโยบายนี้ที่สำนักงานอันขรึมขลังของสำนักพิมพ์ผีเสื้อย่านสุขุมวิท ๒๔
          มกุฏบอกว่าเขาไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่องานขายหนังสือประจำปีเหล่านั้น เพียงแต่เขาคิดว่านั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเข้าร้านหนังสือน้อยลง ซึ่งเป็นกระบวนการบั่นทอนระบบหนังสืออย่างแท้จริง
          “ตอนนี้โรงพิมพ์ทุกแห่งทำงาน ๒๔ ชั่วโมงเหมือนโรงงานนรกเพื่อให้หนังสือออกทันงานขายหนังสือ ทุกคนทำงานหามรุ่งหามค่ำ กระดาษขาดตลาด การตรวจปรู๊ฟหนังสือแทบจะไม่มีเพราะต้องรีบส่งต้นฉบับให้ทัน ทุกอย่างมาเร่งตอน ๓ เดือนก่อนที่จะมีงาน แต่พอพ้นจากนี้ไปทุกอย่างก็ว่างเปล่า งานก็เงียบ คนงานก็แทบจะไม่มีงานทำ กระบวนการมันหยุดชะงัก สิ่งเหล่านี้มันคือกระบวนการที่ทำให้ระบบหนังสือในเมืองไทยมันไม่ไปไหน” อดีตผู้ผลักดันให้เกิดร่างกฤษฎีกาสถาบันพัฒนาความรู้แห่งชาติ โดยมุ่งหวังให้เป็นสถาบันที่แก้ไขวงการหนังสือทั้งระบบ ก่อนที่ต่อมานโยบายนั้นจะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็น TK Park อธิบาย
          “นี่เป็นวิธีหนึ่งเท่านั้น เป็นวิธีเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่ใช่ว่าไม่ขายหนังสือในงานนี้แล้วปัญหาจะถูกแก้ไปทั้งหมด ปัญหามันใหญ่กว่านั้นเยอะ ตราบใดที่เรายังไม่ได้ศึกษาว่าวิธีการทำลายกระบวนการอ่านหนังสือมีอะไรบ้างแล้วพยายามแก้ให้หมดทุกจุด เราก็อย่าได้หวังเลยว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองหนังสืออย่างที่พยายามคิดฝันกัน หรืออย่าได้คิดฝันกันว่าคนกรุงเทพฯ จะเป็นคนที่อ่านหนังสือกันจริงๆ มันก็อาจจะเป็นแค่เมืองที่ผลิตหนังสือหรือเมืองเก็บหนังสือเท่านั้นเอง” บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้ออธิบาย
          “ผมไม่หวังนะครับ ผมไม่ขอร้อง ไม่เรียกร้อง ผมก็ทำของผมไป สำนักพิมพ์ผีเสื้อเป็นสำนักพิมพ์ที่เล็กที่สุดในประเทศไทย ผลิตหนังสือน้อยที่สุดในแต่ละปี แต่ว่าเราก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งหมดนี้อย่างน้อยที่สุดถ้าหากว่ามันจะมีสำนักพิมพ์สักแห่งหนึ่งที่ไม่มีหนังสือขายในงานลดราคาหนังสือ แล้วเมื่อมีการแนะนำในหนังสือพิมพ์ว่ามีหนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์นี้ออกใหม่นะ ชื่อหนังสือนี้ ขายที่ร้านหนังสือนะ คนก็จะได้แวะไปที่ร้านขายหนังสือเมื่อมีเวลา หรือเมื่อว่าง หรือเมื่อไม่รู้ว่าจะทำอะไร หรือเมื่อเวลาคิดถึงใครสักคนนึงแทนที่จะนัดเจอกันที่ผับ ที่บาร์ ที่ร้านอาหาร ก็ไปเจอกันที่ร้านขายหนังสือแล้วเขาก็จะได้ไปดูหนังสือพวกนี้ด้วย วงจรวัฏจักรของการอ่านหนังสือ มันก็จะเกิดขึ้นอย่างที่มันควรจะเป็น” มกุฏ อรฤดี กล่าวเป็นบทสรุปถึงสิ่งที่เขามุ่งหวัง

เรียบเรียงจาก
นิตยสาร a day (THINK POSITIVE หน้า ๒๒)
ฉบับที่ ๘๖ SITCOM

พอดี

นักอ่านคุณภาพคงรู้จักสำนักพิมพ์คุณภาพอย่าง ‘สำนักพิมพ์ผีเสื้อ’ เป็นอย่างดี คุณภาพของสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่ว่า ไม่เพียงรายละเอียดการคัดสรรต้นฉบับ ผู้เขียน ผู้แปล แต่รวมไปถึงการจัดรูปเล่ม ออกแบบปก และการพิมพ์อย่างประณีต จำหน่ายในราคาสมน้ำสมเนื้อ ทั้งประกาศความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์ในหนังสือทุกเล่ม ว่าพร้อมส่งหนังสือทดแทน ไม่ว่ากรณีหนังสือที่ซื้อไปหลุดจากเล่มเป็นแผ่น ๆ หน้าขาดหาย เรียงสลับ เลขสับสน ฯลฯ
          นอกจากนี้ ยังไม่ปล่อยให้หน้ากระดาษแผ่นสุดท้ายสูญเปล่า เพราะทางสำนักพิมพ์จะลงที่อยู่ของมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อ ‘บอกบุญ’ แก่ผู้ที่อยากสนับสนุนหน้าซองหรือกล่องพัสดุยังมี ‘ลูกเล่น’ ที่อ่านแล้วชวนอมยิ้มทั้งบุรุษไปรษณีย์ผู้ทำหน้าที่จัดส่ง ไปจนถึงนักอ่าน-ผู้รับปลายทาง‘ขอขอบคุณคุณสุภาพบุรุษไปรษณีย์ ผู้ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ยิ่งกว่ารัฐมนตรีหลายฅน’เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็น ‘ความจริง’ ในทุกยุคสมัย ยิ่งเมื่อ
คุณมกุฎ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อขยายเกร็ดให้ฟังว่า “ข้อความนี้ผมใช้มาหลายสิบปีแล้วตั้งแต่สมัยก่อนเวลาส่งจดหมายถึงเพื่อนฝูงที่คุ้นเคยกัน”ข้อความดังกล่าวยังร่วมสมัย ไม่ตกยุค ตราบเท่าที่ผู้คนในสังคม (ไม่จำกัดเฉพาะรัฐมนตรีหลายฅน) ยังคงไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และไม่เข้าใจเสียทีว่า ‘พอดี’ แปลว่าอะไร

เรียบเรียงจาก
นิตยสาร IMAGE ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๑๑
พฤศจิกายน ๒๕๔๙

หนังสือไทย ยุครอดยาก
พูดถึงปัญหาเศรษฐกิจและผลกระทบต่อวงการหนังสือในปี ๒๕๔๐

          • เตรียมการแก้ปัญหามาตั้งแต่เมื่อไหร่
          “ผมคิดมาตั้งแต่เดือนเมษาฯที่แล้ว สมัยรัฐบาลจิ๋ว นะครับ เพราะเห็นว่ามันไปไม่รอดแน่ เพราะรัฐบาลเป็นอย่างนี้ คือธุรกิจอย่างอื่นยังกระทบเลย นับประสาอะไรธุรกิจหนังสือ ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลในประเทศไทยนะครับที่รู้จักคำว่าหนังสือ ไม่มีนะครับ ตั้งแต่ผมเกิดมานี่ ผมทำหนังสือมา ๒๐ กว่าปี ผมไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนพูดคำว่า‘หนังสือ’นะครับ เขาไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นเราจะไปหวังพึ่งรัฐบาลไม่ได้ จะไปร้องแรกแหกกระเฌอให้รัฐบาลมาคิด มาช่วยเหลือ มาทำอะไร อย่าว่าแต่คิดเลย รู้จักก็ยังไม่รู้จัก แล้วคุณจะไปร้องเรียกอะไรล่ะครับ เพราะฉะนั้น มีอยู่ทางเดียว ถ้าคุณรักจะทำหนังสือ ก็คือ คุณต้องคิดของคุณเองว่าจะทำอย่างไร ถ้าคุณคิดจะทำหนังสือต่อไป ก็หาทางจะให้ลดราคาลง ให้ราคาถูกลง คือดิ้นรนทุกทางเพื่อจะให้ทำได้”
          • พูดถึงค่าลิขสิทธิ์แปล
          “ค่าลิขสิทธิ์แปลขึ้นเป็นสองเท่าก็จริง คือหมายความว่าเมื่อค่าเงินมันเป็นอย่างนี้นะครับ ก็มีวิธีการ ประการแรกที่สุดก็คือ มีลิขสิทธิ์จำนวนมากที่เราซื้อเอาไว้ตั้งแต่สองปีที่แล้ว ยังไม่หมดอายุสัญญานะครับ เราก็ยังใช้ต้นทุนอย่างเดิมอยู่ ลิขสิทธิ์ใหม่เราก็จะขอน้อยลง พยายามจะติดต่อขอซื้อน้อยลง หรือถ้าจะต้องซื้อก็เจรจาจ่ายเป็นเงินบาท”
          • จะเน้นไปที่นักเขียนไทยมากขึ้นหรือเปล่า
          “เรื่องนี้ต้องพูดกันยาวนะครับ คือกว่า ที่เราจะคิดว่าจะพิมพ์หนังสือวรรณกรรมต่างประเทศโดยเฉพาะวรรณกรรมเยาวชน คิดกันยาว คิดกันนาน เป็นเวลาตั้งเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว และก็ได้พิสูจน์อะไรบางอย่าง มีข้อมูลองค์ประกอบอะไรต่างๆ มากมาย ที่ทำให้เราตัดสินใจมาทางนี้นะครับ ถ้าพูดไปก็อาจจะกระทบอะไรบ้างพอสมควร ก็อย่าไปพูดเลย แต่ก็คงไม่เปลี่ยนหรอกครับ มันเหมือนกับเราเคยซื้อสินค้า—เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ง่ายๆ เราเคยซื้อยาบางอย่างนะครับ อันที่จริงยาอย่างนี้ก็มีขายเมืองไทย แต่ยี่ห้อนี้เราเคยซื้อมาขายนะครับ และขณะนี้นี่ก็จำเป็นต้องใช้อยู่ ก็ยังซื้อมาขาย ราคามันอาจจะแพงขึ้น อันนี้ถ้าถามว่าแล้วคุณไม่คิดจะไปหาสมุนไพรหรือ ก็คิด เคยคิดมานานตลอดชีวิต เพราะผมเองผมก็เขียนหนังสือเหมือนกัน คนที่ทำงานในสำนักพิมพ์เราก็หลายคนหรือส่วนใหญ่เป็นคนเขียนหนังสือ ก็คิดจะพิมพ์หนังสือไทยที่เขียนโดยนักเขียนคนไทยนะครับ แต่ก็นั่นแหละ มันก็มีองค์ประกอบหลายอย่าง อย่างที่ผมบอก (หัวเราะ)”
          • คือเลือกแล้วว่าอยากพิมพ์ตรงนี้มากกว่า
          “ครับ เลือกว่าเราจะทำอย่างนี้นะครับ เพราะว่าเรื่องที่จะพูดว่า แหม—สำนักพิมพ์ ‘ผีเสื้อ’ ไม่รักชาติเลย ไปเอาแต่ของฝรั่งมังค่ามา พูดกันไม่ได้ในกรณีอย่างนี้ คือเรื่องสติปัญญา เรื่องความงาม เรื่องรสนิยม เรื่องศิลปะ เ รื่องอะไรนี่ มันพูดไม่ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นเราก็ต้องโจงกระเบนอย่างเดียวเลยนะครับ อย่างอื่นไม่ได้ ก็พูดยากนะครับ”
          • แล้วคิดว่าอย่างเศรษฐกิจตอนนี้ไม่ดี จากกลุ่มคนอ่านที่เคยมีอยู่จำนวนหนึ่ง คิดว่าจะลดลงหรือเปล่า
          “ถ้าจะพูดไป บังเอิญสำนักพิมพ์ ‘ผีเสื้อ’ ไม่ใช่สำนักพิมพ์หวือหวา หนังสือของเราแทบจะไม่ติดอันดับขายดีนะครับ แต่ก็ขายคนกลุ่มหนึ่งซึ่งผูกพันกันมาเป็นเวลา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ผูกพันกันมานาน คนกลุ่มนี้ยังอ่านอยู่ บังเอิญเรามีคนกลุ่มนี้มากพอสมควร เพราะฉะนั้นจะกระทบกระเทือนก็ไม่มากนัก คือไม่ถึงขนาดเบสต์เซลเลอร์ แต่ก็พอจะขายได้ในคนกลุ่มนี้ ก็พอถูไถกันไปได้ อันที่จริงแล้ว ผลกระทบต่อตลาดหนังสือนี่ ไม่ใช่เรื่องค่าเงินบาท หรือเรื่องหนังสือไทย หนังสือเทศ หนังสือนอก หนังสือใน หนังสือแปล หรือหนังสือเขียนเท่านั้นหรอก สิ่งหนึ่งซึ่งยังไม่มีใครพูดถึงก็คือ ผลกระทบอันเกิดจากร้านขายหนังสือต่างหาก ศึกษาดูให้ดีนะครับ ถ้าเผื่อจุดเกิดผลกระทบขณะนี้ก็คือในร้านหนังสือไม่มีหนังสือมากพอให้คนเข้าไปซื้อ คือผมยกตัวอย่างว่า นาย ก. เคยเดินเข้าร้านหนังสือ เอ. ทุกครั้งที่เขาเดินเข้าไป เขาได้หนังสือกลับมา เพราะมีหนังสือใหม่ๆ ออกมาให้เขาเลือกอ่าน ให้ซื้ออ่าน แต่ตอนนี้ร้านขายหนังสือหลายแห่งมีแต่หนังสือเก่าๆๆๆ เพราะสายส่งไม่สามารถส่งหนังสือใหม่ๆ เข้ามาแล้วนะครับ เมื่อเป็นอย่างนี้ นาย ก. หรือพวกของ นาย ก. ทั้งหลายที่เคยไปซื้อไปดู ๆๆๆ แล้วก็ได้หนังสือกลับมา ไปกี่สิบครั้งเขาก็ได้เห็นหนังสือซ้ำซากๆๆๆ เขาก็เบื่อที่จะไป มีคนจำนวนมากที่เริ่มจะเบื่อไปร้านหนังสือ เพราะไม่มีหนังสือใหม่ๆให้เขาอ่าน ไม่มีหนังสือดีๆให้เขาอ่าน หรือมีหนังสือใหม่ หนังสือดี แต่แพงเกินไป เพราะว่าไม่มีการพัฒนา ไม่มีการค้นหาวิธีใหม่ที่จะทำ ทำอย่าไรให้หนังสือถูกลง เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน ค่อนข้างจะเป็นวงกว้าง มันเป็นลูกโซ่นะครับ อันที่จริงลูกโซ่อันนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มันเกิดขึ้นเพราะความล้มเหลว แหม—ถ้าพูดไปมันต้องกระทบอยู่ดีละ ผมยกตัวอย่างอย่างนี้ดีกว่าว่า ในประเทศหนึ่งนะครับ มีสายส่งหนึ่งเจ้านี่ สายส่งซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ด้วย คุณก็รับหนังสือจากสำนักพิมพ์ เอ. บี. ซี. ดี. อี. เอฟ. เล็กๆ ทั้งหลายนี่นะครับ เสร็จแล้วเอามาให้สายส่ง ก. สายส่ง ก. รับมาแล้วก็เอาไปขาย ก็ขายได้นะครับ เพราะว่าสายส่ง ก. ก็มีเฟรนไชส์มีอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะในประเทศนั้นนะครับ แต่ทีนี้วันดีคืนดี สายส่ง ก. ก็เอาเงินที่ควรจะจ่ายคืนให้ลูกค้านี่ไปทำธุรกิจอย่างอื่นนะครับ เมื่อไปทำธุรกิจอย่างอื่น ธุรกิจเหล่านั้นมันเกิดล้มเหลวผิดพลาดขึ้นมา เงินที่เอามาจากสำนักพิมพ์ เอ. บี. ก. ข. ค. ง. อะไรทั้งหลายนี่ มันก็กลายเป็นเงินที่สูญไป เมื่อมันสูญไปอย่างนั้น สำนักพิมพ์แทนที่จะพิมพ์หนังสือใหม่ออกมาได้ ก็พิมพ์ไม่ได้ เพราะเงินมันไปจมที่สายส่งหมดนะครับ เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไร แทนที่หนังสือจากสายส่งนั้นๆ จะเพิ่มมากขึ้น แล้วกระจายไปยังเฟรนไชส์ เฟรนไชส์ก็มีหนังสือขายน้อยลงๆ มันเป็นลูกโซ่ที่สำคัญมากนะครับ ต้องทำกราฟออกมาให้เห็น แล้วจะเห็นชัดมาก ผมบอกได้ว่า ถ้าเผื่อวงการหนังสือจะมีผลกระทบใหญ่หลวงมันไม่ได้เป็นผลกระทบที่เกิดจากค่าของเงินนะครับ แต่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากองค์กรการจัดจำหน่ายหนังสือนั่นเอง ที่ทำให้ผิดพลาดขึ้น เมื่อเกิดการผิดพลาดอย่างนี้มันจะโยงกันไปหมด แล้วที่น่ากลัวก็คือสำนักพิมพ์เล็กๆ อยู่ไม่ได้ ที่อยู่ไม่ได้ไม่ใช่เพราะหนังสือของเขาขายไม่ได้ หนังสือของเขาขายได้ แต่เขาไม่ได้เงิน เมื่อเขาไม่ได้เงิน เขาจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อกระดาษ มาซื้อต้นฉบับ มาซื้ออะไรพิมพ์ นี่คือปัญหาใหญ่นะครับ แล้วสำหรับคนอ่านนั้น เมื่อไปที่ร้านหนังสือแล้ว เขาไม่เห็นหนังสือใหม่ ไม่เห็นหนังสือที่เขาอยากได้ ไม่เห็นหนังสือในราคาที่เขาควรจะซื้อ เขาก็ไม่ซื้อ เป็นวงจรที่เรามองแทบจะไม่เห็น มันละเอียดอ่อนมาก แต่ว่าเรื่องนี้ดูเหมือนจะยังไม่มีใครพูดถึงครับ เราก็มักจะไปลงโทษ—โน่นน่ะฮะ ลงโทษข้างบน ลงโทษเศรษฐกิจ ลงโทษอะไรต่อมิอะไร บางทีก็ลงโทษรัฐบาล แต่ผมบอกแล้วบอกว่าอย่าไปถึงรัฐบาลเลย เพราะรัฐบาลไทยตั้งแต่สมัยสร้างประเทศมาแล้ว นอกจาก พ่อขุนรามฯ นะครับ เขาไม่รู้จักหนังสือ พ่อขุนรามคำแหง เท่านั้นที่รู้จักหนังสือ หรือในหลวงรัชกาลที่ ๕ รัชการที่ ๕ ตั้งแต่รัชการที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ นี่ ทรงทำหนังสือด้วยพระองค์เอง แล้วผลิตหนังสือออกมา เมื่อตอนพิมพ์หนังสือ ‘มูลบทบรรพกิจ’ คือเมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว ทราบหรือเปล่าว่าหนังสือนี้พิมพ์ครั้งแรก ๓,๐๐๐ เล่ม จำนวนเท่ากันหรือมากกว่าหนังสือที่ผลิตในปัจจุบัน—๑๐๐ กว่าปีมาแล้วนะครับ”
          • อย่างนี้ก็พูดไม่ได้ว่า คนไทยไม่มีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรง?
          “มีครับ แต่ว่าบังเอิญเราถูกทำลายโดยระบบธุรกิจแบบที่ผมยกตัวอย่างนะครับ ตอนนี้คนเบื่ออ่านหนังสือเพราะอะไร ไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากอ่าน แต่เพราะไม่มีหนังสือที่เขาชอบ หรือไม่มีหนังสือที่เขาพอใจ เขาไปที่ร้านแล้วไม่มีหนังสือที่เขาอยากซื้อนะครับ เมื่อคนส่งหนังสือไม่ส่งเสียแล้วนี่ ร้านหนังสือจะเอาหนังสือที่ไหนมาขาย หนังสือไม่เพิ่มขึ้น หนังสือดีไม่เพิ่มขึ้น หนังสือใหม่ไม่เพิ่มขึ้น คนอ่านก็ไม่รู้จะไปทำไม ก็เริ่มเบื่อ คือสิ่งเหล่านี้นี่มันเป็นลูกโซ่ซึ่งบางทีเราไม่เห็นนะครับ แล้วเราก็มานั่งบ่นว่า เอ๊ะ!—คนไทยไม่มี วัฒนธรรมการอ่าน ผมพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำว่าคนไทยไม่มีวัฒนธรรมการอ่าน มันมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากนะครับ อีกส่วนหนึ่งก็คือ เมื่อยังเป็นเด็กชั้นประถม เด็กชั้นมัธยมต้น มัธยมปลาย ถูกบังคับให้อ่านหนังสือซึ่งโรงเรียนหรือกระทรวงเลือก ยังผูกขาด เพราะฉะนั้น สมมุติว่าเขาเลือกหนังสืออย่างผูกขาดของสำนักพิมพ์เพียงแห่ง-สองแห่ง เด็กก็จะอ่านซ้ำซากอยู่อย่างนั้น ไม่มีโอกาสได้อ่านวงกว้างออกไปเลย เมื่อเป็นเช่นนี้เขาก็เบื่อที่จะอ่านหนังสือ เหมือนกับให้คุณดูทีวี.ซ้ำซาก น้ำเน่าอยู่ดักดาน แล้วคุณไม่ได้มีนิสัยชอบอย่างนั้น คุณก็จะเบื่อหน่ายในที่สุดคุณพร้อมที่จะไม่ดูทีวี. นี้ก็เหมือนกัน มีองค์ประกอบหลายอย่างมากเหลือเกิน แล้วเกี่ยวพันกันหมด อาจเรียกได้ว่าทุกวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งสำคัญก็คือกระทรวงศึกษาธิการ มันแปลกประหลาดว่า กระทรวงศึกษาธิการมาผูกพันกับสายส่งได้อย่างไร กระทรวงศึกษาธิการมาผูกพันกับร้าน กับผู้ผลิตได้อย่างไร แต่มันผูกกัน แล้วก็ได้ผลก็คือว่า เด็กรุ่นอายุ ๒๐ หรือ ๒๐ เศษๆ หรือ ๑๗-๑๘-๑๙ นี่ ไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่เคยมีใครทำงานวิจัยเรื่องนี้ แต่เราก็นั่งวิจัยกันอยู่เงียบๆ พูดอะไรไม่ออกได้แต่กลอกหน้า เราก็ทำของเราไปตามประสามาเป็นเวลา ๒๐ ปีแล้ว กระทรวงศึกษาธิการสั่งซื้อหนังสือของเราประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าบาท ขณะที่กระทรวงฯมีงบหลายสิบล้านนะครับ บางปีชั้นประถมศึกษานี่มีงบประมาณ ๖๐ ล้านบาท แต่สั่งซื้อหนังสือของผีเสื้อ ๒,๐๐๐ กว่าบาท ก็ไม่เป็นไร เราก็ทำของเราไป (หัวเราะ)”

เรียบเรียงจาก
นิตยสารสีสัน THE SEASON MAGAZINE
ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๒ กุมภาพันธ์ –มีนาคม ๒๕๔๑ (หน้าที่ ๖๒-๖๓)

สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

เชื่อว่ามีเด็กไทยหลายคนที่ตอนนี้โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่อายุราวสามสิบอัพ และถูกหล่อหลอมความคิดด้วยหนังสือเล่มของสำนักพิมพ์ปรารถนาดีนามว่า ‘ผีเสื้อ’ ที่นอกจากจะหาวรรณกรรมเด็กดี ๆ มาแปลและจัดพิมพ์แล้ว ก็ยังใส่ใจในการออกแบบหนังสืออย่างยิ่งยวด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเล่มแบบเย็บกี่เพื่อให้มีความทนทาน ใช้กระดาษถนอมสายตาเป็นรายแรก ๆ และมีหนังสือชุดพิเศษที่ล้วนแล้วแต่เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของโลก (ฉบับแปลเป็นภาษาไทย) และจัดพิมพ์อย่างดี ปกแข็ง พิมพ์ลายทอง ดูแล้วสื่อสารได้ตั้งแต่แรกเห็นถึงความมีคุณค่าของตัวอักษรทุกตัวที่อยู่ด้านใน

คัดจาก
สิริยากร พุกกะเวศ บรรณาธิการบริหาร
นิตยสาร โอโอเอ็ม (oom)
ฉบับที่ ๒๒ธันวาคม ๒๕๕๐ – มกราคม ๒๕๕๑