‘ซึ่งมิอาจปลอบประโลม’
นวนิยายเรื่องแรกของอาจารย์มหาวิทยาลัย วัย ๓๖ ปี
เรื่องนี้ ได้รับรางวัล RTL อันอาจจะถือเป็นรางวัลมหาชน
ของนักอ่านชาวฝรั่งเศส ในปีแรกที่พิมพ์ คือ ค.ศ. ๒๐๐๖
————————————————————————————
นักเขียน พูด : อานน์ โกดาร์
“ฉันเกิดที่กรุงปารีส เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๗๑ ในครอบครัวนักอ่าน พ่อเป็นฅนขายหนังสือ
ปู่คือ พอล ฮาร์ตมันน์ มีกิจการสำนักพิมพ์ และยังเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Le Mercure De France
“ฉันเรียนด้านวรรณกรรม และทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘บทสนทนาในยุคเรอเนซองซ์’
ตอนนี้ก็เลยสอนวรรณคดีอยู่ที่มหาวิทยาลัย ซอร์บอนน์ นูแวลล์ (ปารีสIII)
“แต่การสอนด้านวรรณคดีไม่ได้ช่วยในด้านการเขียนของฉันนักหรอก ฉันรู้สึกตรงข้ามมากกว่า
เพราะการเป็นครูนำเราไปสู่การวิเคราะห์และทฤษฎี ขณะที่การเขียนนำฉันไปสู่ความรู้สึกส่วนตัว
ด้านภาษามากกว่า ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘วรรณกรรม’
การเขียนทำให้รูปแบบการสอนของฉันเปลี่ยนไป ทำให้ฉันสนใจความรู้สึก
และจินตนาการของผู้อ่านมากขึ้น และอยากให้นักศึกษาได้แสดงความรู้สึก
ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรมากกว่าที่จะให้บอกว่า พวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับนักเขียน
หรือเกี่ยวกับหนังสือ นักศึกษาของฉันส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ จึงยิ่งน่าสนใจที่จะได้ฟัง
การแบ่งปันประสบการณ์อันหลากหลายเกี่ยวกับการอ่าน และความเพลิดเพลินในวรรณกรรม
“ฉันชอบอ่านนวนิยายและชีวประวัติ เพราะการเขียนแบบนั้นจะมีภาษาในรูปแบบพิเศษ
ผู้เขียนไม่เพียงจะเล่าเรื่องเท่านั้น แต่ยังชักนำเราไปสู่ภาษาและอารมณ์ด้วย
“ก่อนเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ฉันเคยเขียนเรื่องสั้นสอง-สามเรื่อง สองเรื่องตีพิมพ์ในนิตยสาร
La Nouvelle Revue Francaise ฉันเขียนบทละครด้วย แต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์
“ฉันว่าการอ่านนั้นช่วยให้ฉันอยากจะเขียน และเมื่อฉันเริ่มคิดจะเขียน การอ่านก็เป็นแรงกระตุ้น
ให้ความปรารถนาจะเขียนดำเนินสืบไป แม้จะรู้สึกว่ายาก แต่ฉันโชคดี มีนักเขียนชาวออสเตรียฅนหนึ่ง
ในช่วงนั้น คือ โธมัส เบอร์นาร์ด ได้ช่วยฉันไว้มาก
“ต้นฉบับของฉันที่พิมพ์เล่มเรื่องนี้ ไม่เคยมีใครได้เห็นแม้แต่สามีของฉัน
เมื่อเขียนเสร็จฉันก็ส่งให้บรรณาธิการ คือ อิเรน
ลินดอน บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Les Editions de Minuit อิเรนอ่านต้นฉบับแล้วก็แนะให้นำกลับมาแก้ไข
ฉันต้องแก้ไขมากทีเดียวก่อนจะส่งกลับไปอีกครั้ง
“ตอนนี้ฉันเริ่มโครงการเขียนเรื่องใหม่สองโครงการ ต้องใช้เวลามากทีเดียวเพราะฉันอยากค้นหาเท็คนิค
หรือหนทางพิเศษในการเขียน ตราบใดที่ยังค้นไม่พบหรือยังไม่กระจ่าง ฉันก็จะเขียนต่อไปไม่ได้
เช่นเดียวกับเรื่อง ‘ซึ่งมิอาจปลอบประโลม’ นั่นแหละ—แต่ก็ยังไม่อาจบอกได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
ฉันยังสนใจอยู่ที่เรื่องเกี่ยวกับครอบครัว ความเงียบ ความยากลำบากในประสบการณ์บางอย่างที่อธิบาย
หรือพูดออกมาง่ายๆไม่ได้
“วันหนึ่งฉันพบนักอ่าน บางฅนในหมู่นักอ่านของฉันแปลกใจว่า ฉันดูอ่อนวัยกว่าที่เขาคิด เขาจินตนาการว่า
ฅนเขียนเรื่องนี้ต้องเป็นฅนชรา
“นักอ่านบางฅนทำให้ฉันรู้สึกปลื้ม ก็คือ เขาบอกว่าเขาอ่านเรื่อง ‘ซึ่งมิอาจปลอบประโลม’ ของฉันแล้ว
รู้สึกเหมือนกับอ่านนิยายสืบสวนสอบสวน อ่านรวดเดียวจบชนิดวางไม่ลง!”
————————————————————————————
ความนำสำนักพิมพ์
หนังสือเล่มนี้ ใช้เวลาเดินทางเนิ่นนานเช่นเดียวกับเล่มอื่นๆ
ของผีเสื้อ และสำนักพิมพ์ในครอบครัว
แต่บัดนี้ก็ได้อยู่เบื้องหน้าผู้อ่านแล้ว
‘ซึ่งมิอาจปลอบประโลม’ นับเป็นความร่วมมือ ระหว่างสถานเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศส
ในประเทศไทยกับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ กล่าวคือ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้ทุนดูงาน
ด้านระบบหนังสือ สำนักพิมพ์ การพิมพ์ และการประพันธ์ในประเทศฝรั่งเศส
แก่บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ครั้งนั้น ดร.วัลยา วิวัฒน์ศร ผู้แปลในฐานะ
บรรณาธิการฅนหนึ่ง จึงมีโอกาสเดินทางไปพบกับผู้เขียนที่ประเทศฝรั่งเศส
สำนักพิมพ์ผีเสื้อขอขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศส และสถานเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศส ณ ที่นี้
สำนักพิมพ์ผีเสื้อฝรั่งเศส
พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖
————————————————————————————
บันทึกผู้แปล
ในการอ่านและการแปลนวนิยายตะวันตก ผู้อ่านและผู้แปลย่อมนำตัวเข้าไปอยู่ในบริบท
ทางวัฒนธรรมตะวันตก ความเข้าใจประเด็นต่างๆ ทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในนวนิยาย
จะช่วยให้เข้าถึงเนื้อหาสาระได้ดีขึ้น
นวนิยายเรื่อง ‘ซึ่งมิอาจปลอบประโลม’ อ้างถึงความทุกข์ของพระแม่มารี
เมื่อสูญเสียพระเยซูคริสต์ ตัวละครเอกเปรียบตนเองเป็น mater dolorosa
หรือ แม่พระมหาทุกข์ เพราะตนเองก็เสียลูกชายไปเช่นกัน เพลงที่ตัวละครเอกชอบฟังคือ
Stabat Mater หรือพระแม่ผู้ยืนคร่ำครวญ ซึ่งบรรยายความทุกข์ของพระแม่มารี
ขณะยืนอยู่ใกล้ฐานไม้กางเขน แหงนมองพระผู้ไถ่บาปซึ่งถูกตรึงอยู่
ลูกชายของตัวละครเอกเล่นเปียโนโซนาต้าหมายเลข ๑๗ ชื่อ The Tempest
หรือพายุของเบโทเฟ่น ตัวละครเอกหวนนึกถึงนวนิยายร่วมสมัยของ Thomas Bernhard
เรื่อง Le Naufrage ซึ่งกล่าวถึงนักเปียโนที่ฆ่าตัวตายเพราะไม่อาจเล่นสู้นักเปียโนยิ่งใหญ่
มีตัวตนจริงชื่อ Glenn Gould คำว่า Le Naufrage แปลตามตัวอักษรว่า ผู้จมน้ำตาย
ในนวนิยายเรื่อง‘ซึ่งมิอาจปลอบประโลม’จึงมีการใช้อุปลักษณ์ต่อเนื่อง
ระหว่างพายุกับการจมน้ำ
ผู้แปลได้มีโอกาสสัมภาษณ์ Anne Godard ผู้ประพันธ์ เธอเป็นอาจารย์สอนวรรณคดี
ที่มหาวิทยาลัยปารีสสาม เธอให้ความกระจ่างแก่ผู้แปลในเรื่องบริบททางวัฒนธรรมนี้
และแนะนำให้ผู้แปลฟังโซนาต้า หมายเลข ๑๗ ของเบโทเฟ่น รวมทั้งเพลง Stabat
ซึ่งเรียบเรียงเสียงประสานโดย Pergolesi
นอกจากจะเปรียบตัวเองเป็นแม่พระมหาทุกข์แล้ว ตัวละครเอกยังพอใจทนทุกข์ให้ถึงที่สุด
ก่อนตาย โดยปรารถนาให้ตนเองป่วยเป็นโรคนิโอเบ กล่าวคือเป็นอัมพาตจนแข็งทั้งตัว
ชื่อนิโอเบมาจากเทพนิยายกรีก นิโอเบเป็นราชินีเมืองฟรีเชีย เธอมีโอรสและธิดา
อย่างละเจ็ดฅน เนื่องจากเธอโอ้อวดว่าเป็นหญิงผู้บริบูรณ์กว่าเลโต้
พระมารดาของเทพอพอลโลและอาร์ธีมี เทพทั้งสองจึงแก้แค้นให้มารดาตน
ด้วยการฆ่าลูกของนิโอเบไปสิบสามฅน นิโอเบมิอาจหักห้ามความเศร้าโศกได้
จูปิเตอร์จึงสาปให้เธอกลายเป็นหิน
ประเด็นท้าทายผู้แปลประเด็นหนึ่งในการแปล นวนิยายเรื่องนี้คือสรรพนามบุรุษที่สองเอกพจน์ ‘tu’
ในภาษาฝรั่งเศสซึ่งผู้ประพันธ์กำหนดให้ตัวละครเอกใช้แทนตัวเองในบทรำพึงตลอดทั้งเรื่อง
ทั้งนี้เพื่อสร้างความห่างระหว่างตัวเองกับ ถานการณ์ในความ ทรงจำซึ่งย้อนกลับไปถึงยี่สิบปี
ผู้ประพันธ์อธิบายขณะให้สัมภาษณ์ว่า เธอทดลองเขียนโดยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งเอกพจน์ ‘je’
และพหูพจน์ ‘nous’ รวมทั้งสรรพนามบุรุษที่สองพหูพจน์ ‘vous’ ซึ่งในภาษาฝรั่งเศส
มีความหมายเป็นเอกพจน์ได้ด้วยและใช้พูดอย่างเป็นทางการแล้ว เธอลงเอยด้วยการเลือกใช้ ‘tu’
ในตอนแรกผู้แปลทดลองแปล ‘tu’ ด้วย’เธอ’ ในฐานะสรรพนามบุรุษที่สองเอกพจน์
(ไม่ใช่สรรพนามบุรุษที่สาม) และเข้าประโยคให้เป็นภาษาพูดในลักษณะการพูดกับตนเอง
มีคำลงท้ายประเภท ‘ไงล่ะ’ ‘มิใช่หรือ’ ‘หรือไง’ฯลฯ คล้ายเป็นการตั้งคำถามหรือ พูดย้ำกับตนเอง
แต่คำลงท้ายเหล่านี้ก็ดูรกรุงรังไปหมด จึงเปลี่ยน ‘เธอ’ เป็น ‘เรา’ ในฐานะสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง เอกพจน์
(ไม่ใช่พหูพจน์) แต่เมื่อทดลองอ่านประโยคแปลแล้วก็ยังรู้สึกแปร่ง ในที่สุดจึงใช้ ‘แก’
ซึ่งเป็นสรรพนามบุรุษที่สอง เอกพจน์ แต่ใช้แทนตัวเองเหมือนเป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งแล้วเห็นว่า
สื่อความหมายตรงกับประโยคภาษาฝรั่งเศสต้นฉบับพอดี จึงรู้สึกโล่งใจและดีใจ
ผู้แปลขอขอบคุณ Jean Charconnet แห่งฝ่ายวัฒนธรรม สถานทูตฝรั่งเศซึ่งเป็นผู้แนะนำ
นวนิยายเรื่องนี้แก่ผู้แปล และดำเนินการเรื่องลิขสิทธิ์ให้ ขอขอบคุณ Julie Pomponi เพื่อนร่วมงาน
ซึ่งได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้และได้ร่วมถกเถียงกับผู้แปลในประเด็นต่างๆ
อีกทั้งช่วยกันตีความความหมายบางประโยค
ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่ให้โอกาสผู้แปลเป็นผู้แทนสำนักพิมพ์ไปงานสัปดาห์หนังสือที่ปารีส
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และได้พบผู้ประพันธ์ซึ่งทำให้แปลงานได้ สะดวกราบรื่นขึ้น
ขอขอบคุณ Jean Marcel Paquette ผู้ประสบความสำเร็จในการหาโซนาต้าหมายเลข๑๗ ของเบโทเฟ่น
และเพลง Stabat ของ Pergolesi ให้ผู้แปล และท้ายสุดขอขอบคุณ คุณมกุฏ อรฤดี ในฐานะ
บรรณาธิการต้นฉบับแปลเรื่องนี้
วัลยา วิวัฒน์ศร
มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐