ความนำของผู้เขียน
ติสตู นักปลูกต้นไม้ (Tistou les Pouces verts) เป็นนิทานสำหรับเด็กเรื่องเดียวที่ข้าพเจ้าเขียน และคงจะเป็นนิทานเรื่องเดียวที่ข้าพเจ้าจะเขียนเป็นแน่
วันหนึ่ง ระหว่างที่กำลังเขียนเรื่อง ‘กษัตริย์ถูกสาป’ (Rois Maudits) เล่มสอง ข้าพเจ้าก็เกิดนึกสนุกและต้องการผ่อนคลายอารมณ์ของตนด้วย ที่จะลองเขียนการประพันธ์ ในรูปแบบซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเขียน และเป็นแบบที่ต่างไปจากงานเขียนอื่น ๆ ของข้าพเจ้ามาก ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่ามีเพียงรูปแบบและสำนวนเท่านั้นที่แตกต่างส่วนลึกแล้วปัญหายังคงเป็นปัญหาเดิมนั่นเอง
ประการแรกก็คือ ไม่มีเด็ก ๆ ที่เราจะพูดด้วยได้อย่างถ่องแท้จริง มีแต่พวกผู้ใหญ่ในอนาคต และเด็กในอดีตเท่านั้น
ในชีวิตประจำวัน ข้าพเจ้าไม่เคยเลยที่จะพูดกับเด็ก ๆ ด้วยเสียงและสำนวนแบบเด็ก ข้าพเจ้าไม่คิดว่าเด็กจะโง่เขลาเสียจนข้าพเจ้าต้องทำเป็นโง่ไปด้วยเพื่อจะได้เข้าใจกัน สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก เมื่อมีคนมาใช้วิธีไม่ดีนี้กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะโกรธฉุนเฉียวมาก และแน่ละ ข้าพเจ้ามักคิดโดยไม่กล้าพูดออกมาว่า ‘ดูซิ นายคนนี้โง่จริง ๆ ที่รู้สึกว่าต้องนั่งยอง ๆ เพื่อจะได้ดูเหมือนว่าตัวขนาดเดียวกับฉัน’
ติสตูนั้นเป็นเด็กผู้ชายเล็ก ๆ ประเภทนี้ ผู้ซึ่งไม่ยอมให้พวกผู้ใหญ่ใช้ความคิดสําเร็จรูปอธิบายความเป็นไปในโลก และเนื่องจากเด็กมีคุณสมบัติพิเศษ คือมีดวงตาใหม่ในการมองดูคนและสิ่งของต่าง ๆ เขาจึงทำให้ผู้ใหญ่ที่มีวิจารณญาณบิดเบือนไปด้วยแว่นแห่งความเคยชินเหล่านั้นต้องจนปัญญาบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราจึงไม่อาจดำรงชีวิตอยู่แต่เพียงความดี ในเมื่อคนเรามีชีวิตอย่างเป็นสุขด้วยความรู้สึกที่ดีมากกว่าความรู้สึกที่ไม่ดี ด้วยเสรีภาพมากกว่าการกดขี่ ด้วยความยุติธรรมมากกว่าการถืออำนาจบาตรใหญ่ ด้วยความสงบมากกว่าการมีศึกสงคราม กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ ด้วยความดี มากกว่าความเลว
ข้าพเจ้าก็ไม่เคยเข้าใจว่า เหตุใดคนเราจึงไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความดีเพียงประการเดียว ที่ข้าพเจ้ารู้สึกเช่นนี้คงเนื่องจากยังมีความเป็นเด็กหลงเหลืออยู่ในตัวกระมัง
เด็กทุกคนกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติตนเพื่อสาธารณประโยชน์ และเฝ้ารอคอยความมหัศจรรย์ของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่เพื่อกระทำการนั้น และแล้ว เมื่อเขาโตขึ้น ส่วนใหญ่มักลืมสิ่งที่อยากจะทำหรือไม่ก็เลิกล้มความตั้งใจนั้นเสีย ฉะนั้นจึงไม่มีอะไรเกิดขึ้น มีเพียงผู้ใหญ่อีกคนเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง แต่ปราศจากสิ่งมหัศจรรย์
ส่วนติสตู เขาเป็นคนมีโชค และนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของนิทานชวนฝันเรื่องนี้ เขาทำการใหญ่ได้ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นเด็กและเขาทำได้โดยใช้ดอกไม้ซึ่งเหมือนกับเด็กอย่างยิ่ง คือให้ทั้งคำมั่นสัญญา และความหวัง
หนูน้อยคนนี้ ซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า เขาใช้ดอกไม้ด้วยวิธีใด หรือเพื่อเตือนใจพวกเรา ‘เด็ก ๆ ในอดีต’ ว่า คนเรานั้นอาจจะอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุขมากกว่านี้
นิทานเรื่องนี้จะบอกให้คุณทราบ
แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ติสตูนั้นไม่ใช่อย่างเด็กทั่ว ๆ ไป
ติสตูได้พิสูจน์ให้ข้าพเจ้าเห็นสิบกว่าปีมาแล้ว โดยบรรดามิตรสหายทั้งหลายที่มีอยู่ทั่วโลกและไม่จำกัดวัย ซึ่งเขาเป็นผู้นำมาให้ข้าพเจ้านั่นเอง
โมรีส ดรูอง
พฤศจิกายน ค.ศ. 1967