หนังสือนี้มีประวัติยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ นับแต่เป็นหนังสือแปลต้องห้ามในยุคเผด็จการ จนมาถึงยุคโลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน
สิ่งพิเศษในภาษาชานีเป็นเรื่องกล่าวขานสืบมา ฉบับภาษาไทยก็ดุจเดียวกัน เรื่องหนึ่งคือ ต้นฉบับที่พลัดพรายหายสูญนานถึง ๕๑ ปี
กลับปรากฏอีกครั้ง พร้อมหนังสือต้นฉบับในสภาพครบถ้วนสมบูรณ์ ในวันที่ผู้แปลอายุย่างเข้าปีที่ ๙๐ แม้จะได้ต้นฉบับแปลครั้งแรกไม่ครบ
แต่การกลับมาของหนังสือฉบับภาษาอังกฤษซึ่งพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์ในประเทศจีนเมื่อครั้งกระโน้น ก็ทำให้ผู้แปลเกิดกำลังทั้งกายและใจ
ลงมือแปลใหม่อีกครั้งจนจบทั้งเล่ม
สำนักพิมพ์ผีเสื้อพยายามติดต่อผู้ถือลิขสิทธิ์ต้นฉบับเดิม เพื่อจัดพิมพ์อย่างดีที่สุด ในวาระอันควร สบโอกาสเมื่อผู้แปลอายุเข้าปีที่ ๙๒
ประจวบกับวาระที่มหาวิทยาลัย นเรศวรได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
ดำเนินงานโครงการวิจัยเรื่อง ‘องค์ความรู้ด้านวรรณศิลป์ของศิลปิน แห่งชาติ อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา’
และเสนองานวิจัยต่อสาธารณะในวันเสาร์ ที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๔ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓
———————————————————————-
‘อัษมา’ เป็นนิยายคำกลอนพื้นบ้านจีนขนาดยาวที่มีสีสรรพ์ และถ่ายทอดต่อๆ กันมา แบบปากต่อปากนานหลายชั่วอายุฅนโดยชนเผ่าชานีในมณฑลยูนนาน เป็นเรื่องราว ของสาวน้อยชาวชนบทนามว่า ‘อัษมา’ และพี่ชายของเธอที่ชื่อ ‘อาเฮย์’ ภาษาที่ใช้ เป็นแบบเรียบง่ายปราศจากการตกแต่งให้เพราะพริ้ง เป็นเรื่องเล่าถึงการต่อสู้อย่าง เด็ดเดี่ยวของอัษมา ให้พ้นจากอำนาจกดขี่ของเจ้าขุนมูลนายผู้ครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งเป็นผู้ลักพาตัวเธอไป อาศัยพลังชีวิตและความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้ได้มา ซึ่งอิสรภาพและความผาสุก หนุ่มอาเฮย์และอัษมา จึงเป็นเสมือนตัวแทนของชาวชานี ทั้งเผ่าทีเดียว ชนชานี เป็นสาขาหนึ่งของชาวยี ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่พำนักอาศัย อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ชาวชานี ดำเนินชีวิตอยู่ที่ตำบลก๋วยชาน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของคุนหมิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูนนาน ชาวชานีมีภาษาพูด ของตนเอง และมีตัวอักษรแบบง่ายๆ เป็นชาวชนที่รักดนตรี และการเต้นรำ แสดงความรู้สึกและความปรารถนาของตนเองออกมาได้โดยอาศัยเครื่องดนตรี ทำด้วยไม้ไผ่แบบเรียบง่ายที่ชื่อ ‘โมชิน’
นับตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ขึ้นไปจนถึงเวลาแต่งงาน เยาวชนชาวชานีจะใช้ชีวิต อยู่ห่างบ้านตามหอพักซึ่งจัดขึ้นเป็นพิเศษสำหรับเด็กหนุ่มสาว ซึ่ง ณ ที่นั้น ทุกค่ำคืนพวกเขาจะสนุกสนานกันด้วยการร้องรำทำเพลง ผิวขลุ่ย หรือเล่นเครื่องสาย หรือร่วมรักกันอย่างไรก็ตาม ในอดีตถึงแม้พวกเขาจะรักกันได้อย่างอิสรเสรี แต่ก็ใช่ว่า จะแต่งงานกับใครก็ได้ตามที่ตนพอใจ แต่ต้องปฏิบัติตามการตัดสินใจของพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้เลือกคู่ให้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใด ชาวชานี จึงอาศัยนิยายกลอนพื้นบ้านที่ชื่อ ‘อัษมา’ นี้ แสดงออกซึ่งความโหยหา อิสรภาพและความผาสุกมาเป็นเวลานานนับหลายชั่วอายุฅน ในอดีต ชาวชานีถูกเอารัดเอาเปรียบโดยเจ้าของที่ดินในระบบเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งจะมาริบเอาผลิตผลจากน้ำพักน้ำแรงไปทุกปี และทอดทิ้งพวกเขาให้มีชีวิตอยู่อย่าง อดๆ อยากๆ นี่คือคำอธิบายว่า เหตุใดนิยายกลอน ‘อัษมา’ จึงเป็นกระบอกเสียง ที่แสดงถึงความเกลียดชังอย่างรุนแรงที่ชาวชานีมีต่อผู้ที่กดขี่บีบคั้นตน
‘อัษมา’ เป็นบทกลอนซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบมากที่สุดของชาวชานี เมื่อใดที่มีงานวิวาห์ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะขึ้นนั่งขัดสมาธิอยู่บนม้านั่งและขับร่ายนิยายกลอน ‘อัษมา’ เป็นทำนองเสนาะ ฅนหนุ่มสาวก็จะน้ำตาไหลไปตามกันในความทุกข์ทรมานของ อัษมา และพากันดีอกดีใจเมื่อเธอได้ชัยชนะในที่สุด ผู้มีเหย้าเรือนแล้วแต่ไม่มีความสุข ก็จะขับลำนำ ‘อัษมา’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อซึมซับพลังความกล้าหาญจากนิยายกลอนเรื่องนี้ เข้าไว้ในตน เด็กสาวที่ทำงานในไร่นาก็จะขับลำนำ ‘อัษมา’ เช่นกัน และมักจะพูดเสมอว่า ‘ความทุกข์ทรมานของอัษมา ก็คือความทุกข์ทรมานของเด็กสาวชาวชานีทุกฅน’
แม้นิยายกลอนขนาดยาวเรื่องนี้จะถ่ายทอดต่อๆ กันมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุฅน ก็ตามที แต่ยังไม่เคยมีต้นฉบับที่ถือว่า เป็น ตัวบทมาตรฐานในภาษาชานีได้เลย ใน ค.ศ.๑๙๕๓ นักเขียนและศิลปินบางฅนในยูนนานจึงจัดส่งคณะทำงานไปยังตำบล แถบภูเขา ถิ่นที่อยู่ของชาวชานีเพื่อเก็บรวบรวมคำบอกเล่าเรื่อง ‘อัษมา’ ให้ได้สำนวน สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ อาศัยการไปดำเนินชีวิตและทำงานร่วมกับชาวชานีเป็นเวลา นาน คณะทำงานก็ได้กลายมาเป็นเพื่อนที่ดีของชาวชานีและค่อยๆ เข้าใจถึงระบบสังคม ขนบประเพณี ความคิด และความรู้สึกของพวกเขา หลังจากได้ศึกษานิยายกลอนที่เล่า สู่กันมาต่างๆ หลายสำนวนอย่างถี่ถ้วนแล้ว คณะทำงานก็รวบรวม ‘อัษมา’.ขึ้นเป็นรูปเล่ม และแปลนิยายกลอนเรื่องนี้เป็นภาษาจีน ในค.ศ.๑๙๕๔ เมื่อนิยายกลอนขนาดยาวเรื่องนี้ ตีพิมพ์ใน ‘ยูนนานรายวัน’ ณ เมืองคุนหมิง และใน ‘วรรณกรรมประชาชน’ ณ กรุงปักกิ่ง ก็ปรากฏว่า ผู้อ่านต้อนรับอย่างอบอุ่น ต่อมาจึงได้จัดพิมพ์ในรูปเล่ม โดยสำนักพิมพ์วรรณกรรมประชาชน และฉบับภาษาอังกฤษก็แปลจากฉบับภาษาจีนที่ว่านี้
ประเทศจีนเป็นประเทศที่กอปรด้วยชนหลายเชื้อชาติในอดีตภายใต้การปกครองอันโหดร้ายทารุณของ ‘กลุ่มปฏิกิริยา’ บรรดาชนกลุ่มน้อยก็ต้องทนรับความทุกข์ยากลำบาก นานัปการ และวัฒนธรรมของพวกเขาก็ถูกโจมตีและถูกทำลายไปมิใช่น้อย
กระนั้นก็ตาม ประชาชนชั้นแรงงานในประเทศจีนใหม่และบรรดาชนเผ่าน้อยทั้งหลาย ก็ยังได้รักษาวรรณกรรมภาษาพื้นเมือง และปรุงแต่งให้งดงามขึ้นและถือว่า เป็นส่วนหนึ่ง ที่เทียมเท่าเสมอกันของ ครอบครัวใหญ่ครอบครัวเดียวและวัฒนธรรมประจำชาติของ พวกเขาก็เป็นที่เคารพและยกย่องคุณค่าเป็นอย่างดี การค้นพบการเก็บรวมนิยายกลอน ‘อัษมา’ ตลอดจนการจัดพิมพ์เผยแพร่ ล้วนเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของวิธีที่แสดง ให้เห็นว่า วรรณกรรมอันงดงามละเอียดอ่อน และศิลปะของชนกลุ่มน้อยนั้น ได้รับยกย่องเชิดชู คุณค่าอย่างสูงเพียงใดในปัจจุบัน
———————————————————————-
กว่าจะมาถึงเรื่องของ ‘อัษมา’
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อครึ่งศตวรรษบวกกับอีกหนึ่งปีที่แล้วมา หรือเขียนให้อ่านง่ายขึ้น ก็คือ เมื่อ ๕๑ ปีที่แล้ว คือเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ ได้มีนิตยสารรายเดือนฉบับหนึ่ง ปรากฏตัวขึ้น มาวางบนแผงในร้านขายหนังสือในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดบางแห่งของสยาม ประเทศนิตยสารรายเดือนฉบับนั้น มีชื่อว่า ‘สายธาร’ นิตยสารนี้ เกิดขึ้นด้วยความคิดริเริ่มของบุคคลอายุ ๒๐ ปลายๆ และ ๓๐ ต้นๆ ๕-๖ ฅน ที่ทำงานอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์และงานการโฆษณา ได้รับการฝึกปรือมา ในการเขียนข่าว บทความ เรื่องสั้น และนวนิยายมาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี เรียกว่า ชีวิตอยู่ในช่วง ‘ขาขึ้น’ ทางการเขียนและทำหนังสือ มีความเห็นว่า ถ้าพวกเราขยันกันขึ้นอีกนิดหน่อย ลงแรงทำหนังสือออกมาสักฉบับ เป็นประเภทรายเดือนโดยไม่ต้อง ลงทุนมากเกินกำลัง เพราะในระยะแรก..ลงทุนด้วยการเขียนให้ฟรี ไม่มีค่าเรื่อง เมื่อพอหนังสือตั้งตัวได้แล้วค่อยมาคิดแบ่งสันปันส่วนกันทีหลัง ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นจะมีเพียง ค่าพิมพ์เท่านั้น มีบางฅนให้ความเห็นว่า นิตยสารรายเดือนไม่มีตลาดถาวรในเมืองไทย หนังสือยืนอยู่ยาก อย่างมากไม่เกิน ๑๐ ปี เขาเอ่ยชื่อ นิตยสารหลายฉบับที่ออกมาแล้ว ล่วงลับไปจนดูเหมือนว่า เส้นทางสายประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมไทย มีหลุมฝังศพ ของนิตยสารรายเดือนดกดื่นกว่าหนังสือประเภทอื่นอยู่สองข้างทาง หลายฅนเชื่อว่า ความเห็นนี้เป็นเรื่องจริง
ในที่สุด ตกลงกันว่าน่าจะลองทำดู ในระยะเวลานั้นต่างฅนต่างก็มีงาน ประจำทำอยู่เป็นรายได้หลักอยู่แล้ว ไม่มีอะไรต้องเสี่ยงมากมาย อย่างน้อย วงการวรรณกรรมก็จะมีการเคลื่อนไหวเพิ่มเติม ให้การอ่านมีความหลากหลายมากขึ้น แล้วนิตยสาร ‘สายธาร’ ก็ออกมาปรากฏโฉมอยู่ท่ามกลางหนังสืออื่นๆ ที่เป็นเพื่อนร่วมสมัย แต่ตอนนั้น ผมไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพฯแล้ว ผมพลัดไปอยู่กรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของสาธารณรัฐอาร์เจนตินาในอเมริกาใต้โน่น ตามบทบาทที่เพื่อนฝูงกำหนดให้ผมต้องเขียนเรื่องยาวเป็นรายเดือนส่งมาให้ หลังจากนิตยสาร ‘สายธาร’ ฉบับแรกออกไปสู่ตลาดแล้ว ได้มีการประเมินกันว่า น่าจะมีการส่งเสริมการตลาดและการขาย ฝ่ายบรรณาธิการมีความเห็นว่า น่าจะมีการ แจกหนังสือที่มีเนื้อหาสาระดีให้แก่ผู้อ่าน ‘สายธาร’ ฟรี พร้อมกับเสนอชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง ที่พิมพ์ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเรื่องที่เป็นคำกลอนในภาษาจีน และแปลเป็นภาษาอังกฤษในรูปแบบของกลอนด้วยเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาสาระดี แม้ดูเผินๆ จะเป็นเรื่องดาดๆ เกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาวชนชาติกลุ่มน้อยของ มณฑลยูนนาน ในสมัยศักดินาที่ต่อสู้กับชะตากรรมของการกดขี่ข่มเหงอย่างไม่เป็นธรรม จากผู้มีอำนาจในท้องถิ่น ในการแปลเรื่องนี้เป็นภาษาไทยเพื่อแจกแก่ฅนอ่าน ‘สายธาร’ ควรจะแปลเป็นรูปแบบของกลอนด้วย
หนังสือเล่มนี้ คือหนังสือชื่อ ‘อัษมา’ และผู้แปลที่ได้รับการขอร้องจากฝ่ายบรรณาธิการ คือ ‘อุชเชนี’ แต่นิตยสาร ‘สายธาร’ มีอายุสั้นเกินไป เรื่อง ‘อัษมา’ ฉบับคำกลอนภาษาไทย ของคุณอุชเชนี ซึ่งจัดพิมพ์เป็นตอนๆ แจกเพิ่มเติมต่างหากคู่กับหนังสือ ‘สายธาร’ ประมาณว่าจะจบเมื่อครบสิบสามตอน แต่แจกไปได้เพียงไม่กี่ตอน ‘สายธาร’ ก็ต้องปิดตัวลง ถ้าหากว่า ‘สายธาร’ ต้องจบบทบาทของตนลงในช่วงเวลาอันแสนสั้น จะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม แต่ ‘สายธาร’ ก็ได้ริเริ่มสิ่งที่มีค่าทางวรรณกรรม ไว้อย่างหนึ่งคือ การขอร้อง ‘อุชเชนี’ ให้แปลเรื่อง ‘อัษมา’ เป็นภาษาไทย แม้จะไม่จบบริบูรณ์เมื่อ ๕๑ ปีก่อน แต่มีส่วนที่ตั้งต้นไว้ดีแล้ว ทำให้‘อุชเชนี’ ได้มาทำต่อเมื่อสองปีที่ผ่านมานี่เอง เพราะเพิ่งค้นหาต้นเรื่องได้และเจ้าของงานแปล ได้ถือโอกาสเกลาที่แปลไว้แล้วให้กลมกลืนเรียบเนียนเข้ากับส่วนที่แปลต่อจนจบ ‘สายธาร’ เป็นนิตยสารหายากไปแล้ว บางทีอาจเป็นเพราะความไม่สำคัญ ของนิตยสารชื่อนี้ก็ได้ บวกกับความมีอายุสั้นจนฅนไม่ทันสังเกตหรือมองเห็น และกลายเป็นอิฐหรือหินสาม-สี่แผ่นเล็กที่ปูอยู่บนผิวทางเดิน ทางเท้าด้านที่รกด้วยหญ้า เพราะไม่มีใครเดิน หรือถ้าบังเอิญเดินผ่านก็ก้าวข้ามไปเพราะสั้นนิดเดียว แต่ ‘อัษมา’ ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่คุณค่าในเนื้อหา สาระที่มีกลิ่นอายของตะวันออก และความไพเราะในสุนทรียรสของ ภาษากวีไทยของ ‘อุชเชนี’ กวีร่วมสมัย
เสนีย์ เสาวพงศ์
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
———————————————————————-
เล่าต่อ
เป็นความดีใจ ‘ดั่งได้แก้ว’ เมื่อวันดีคืนดี ท่านอดีตเอกอัครราชทูต ศักดิชัย บำรุงพงศ์ (เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์) ได้กรุณา ส่งหนังสือ ‘อัษมา’ ฉบับภาษาอังกฤษ พร้อมกับคำแปลเป็นกลอนไทยอีก ๘ ตอนมาให้อย่างไม่นึกไม่ฝัน นับเป็นพระคุณอย่างสูง สุดจะพรรณนา นิยายกลอนพื้นบ้านของจีนเรื่องนี้ ฉบับภาษาอังกฤษได้แปลไว้ในรูปของ คำประพันธ์ เมื่อจะถอดความออกมาเป็นภาษาไทย จึงเห็นควรจะร้อยกรองให้เป็น บทกลอนเช่นกัน ซึ่งได้ทำสำเร็จบริบูรณ์ไปตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๕๐๑ และได้จัดส่งต้นฉบับ ทั้งหมดไปยังกองบรรณาธิการ ‘สายธาร’ เพื่อจัดพิมพ์เป็นอภินันทนาการแก่ผู้อ่าน ตามจุดประสงค์ของท่านผู้ก่อตั้งทั้งหลาย
เมื่อ ‘สายธาร’ มีความจำเป็นต้องปิดตัวลง ต้นฉบับเหล่านี้ก็หายสาบสูญไป ไม่มีสำเนาเหลือเก็บไว้เลย เนื่องจากเครื่องถ่ายเอกสารยังเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยเกินไป สำหรับสำนักพิมพ์เล็กๆ ในครั้งกระโน้น ตั้งแต่ประมาณกลางพุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นต้นไป จึงเป็นช่วงเวลาของการทบทวน บทกลอนแปลที่ ‘สายธาร’ ได้พิมพ์ไว้แล้ว ๘ ตอน และปรับเปลี่ยนให้แนบเนียน กลมกลืนยิ่งขึ้น กับอีก ๕ ตอน ที่ขาดหายไปและจำเป็นต้องแปลใหม่ทั้งหมด เนื่องจากในการแปลนิยายพื้นบ้านเรื่องนี้.จำเป็นต้องถอดความเป็นกลอน ภาษาไทยให้ลงตัวกับกลอนภาษาอังกฤษแต่ละบท บางครั้งเนื้อความในภาษาอังกฤษ มีมาก ยากแก่การที่จะรวบลงเป็นกลอนไทยได้หมดภายในบทเดียว จึงต้องใช้กลอนไทย ถึงหนึ่งบทครึ่งเพื่อจะแปลกลอนภาษาอังกฤษเพียงบทเดียว แต่ในบางครั้งความ ในภาษาอังกฤษมีไม่พอ ก็จำเป็นต้องเพิ่มคำในภาษาไทยซึ่งไม่มีในภาษาอังกฤษลงไป เพื่อให้คงความเป็นกลอนไทยไว้ให้ได้ เช่นในบทท้ายสุดของนิยายพื้นบ้านเรื่องนี้ ผู้แปลจึงขออภัยผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย
ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์มกุฏ อรฤดี และเจ้าหน้าที่ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ที่เป็นผู้จัดรูปเล่มและจัดพิมพ์หนังสือ ‘อัษมา’ จนสำเร็จเรียบร้อยอย่างงดงาม
ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ศักดิชัย บำรุงพงศ์ สำหรับน้ำใจดีของท่านที่ได้กรุณา ปลุก ‘อัษมา’ ฉบับภาษาไทยให้กลับฟื้นคืนชีวาขึ้นมา แม้เวลาจะล่วงเลยไปถึ ๕๑ ปี แล้วก็ตาม กราบขอบพระคุณเป็นพิเศษสำหรับ ‘กว่าจะมาถึงเรื่องของอัษมา’ ซึ่งท่านมีเมตตาเขียนให้ด้วยความเต็มใจและ‘อุชเชนี’ ถือว่าเป็นเกียรติเป็นศรีแก่หนังสือ เล่มนี้ยิ่งนัก จะขอจารึกพระคุณทั้งนี้ไว้ในใจไม่มีวันลบเลือนตลอดกาลนาน
อุชเชนี
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒