คำนำสำนักพิมพ์
ประเทศไทยแม้มีรากฐานความเชื่อ ศาสนา ภาษามาจากอินเดียและคุ้นเคยมหากาพย์รามายณะ แต่มหากาพย์ภารตะ อาจจะยังไม่แพร่หลายนัก
มหาภารตะ มหากาพย์ยิ่งใหญ่ของอินเดียที่เล่าสืบต่อกันมา แม้เป็นเรื่องสงครามการรบพุ่ง แต่พ้นจากเรื่องสงครามการยุทธ์ดังกล่าว มหาภารตะเป็นดั่งวิถีชีวิต วัฒนธรรม หลักดำเนินชีวิต กระทั่งการบริหารบ้านเมือง รวมถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดจนความเชื่อเรื่องฤกษ์ดาว
สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้บอกเล่าซ้ำ ๆ ในบทสวดตามอาศรมจนถึงเรื่องเล่ากลางลานบ้าน พิธีกรรม เหตุการณ์ การกระทำของตัวละครที่เป็นสิ่งคุ้นเคยสำหรับเด็กอินเดีย แต่อาจไม่ใช่เรื่องเข้าใจง่ายนักสำหรับเด็กไทย กระนั้น ความสนุก ฉากสงคราม การรบ การแปลงร่าง ตัวละครต่าง ๆ เหตุการณ์อันตื่นตา ก็ยังคงสนองความใคร่รู้และจินตนาการเหนือจริงให้เด็กของเราได้อย่างดี
ด้วยเหตุที่การแปลนับเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิต วิธีคิดของชาติ อื่น ๆ สำนักพิมพ์จึงได้ทำคำอธิบายท้ายเล่มไว้เพื่อประโยชน์ในการขยายความที่เกี่ยวข้อง เช่น วัฒนธรรม ประเพณีโบราณของชาวอินเดีย ซึ่งจะช่วยให้อ่านหนังสือนี้ได้สนุกและรู้ความเป็นมาของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องได้ง่ายขึ้น
สิ่งสำคัญ การเล่าเรื่องมหาภารตะ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นเหตุและผลแห่งการกระทำ คำพูด วิธีคิดของตัวละคร เรื่องเล่านี้มิได้บอกกล่าวอย่างตัดสินว่า ใครถูก ใครผิด ใครดี ใครเลว แต่ให้ผู้อ่านได้เห็นมิติต่าง ๆ ของตัวละครในการกระทำ คำพูด การตัดสินใจ และผู้เขียนมิได้สรุปใด ๆ แต่ให้ผู้อ่านได้คิดใคร่ครวญ
กุศโลบายเหล่านี้เองจึงทำให้มหาภารตะเป็นหนังสือที่ไม่เคยพ้นกาลสมัย แต่เป็นปัจจุบันเสมอ เพราะหยิบมาอ่านครั้งใด ในบริบทใด ก็ย่อมเกิดสภาวะ ‘เห็น’ และเกิดปัญญาทุกครั้ง ด้วยว่าทุกบรรทัด ทุกถ้อยคำในหนังสือเล่มนี้ล้วนสำคัญ
สำนักพิมพ์ภารตะ
มีนาคม พ.ศ. 2564