บันทึกผู้แปล
เมื่อได้อ่านเรื่อง ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ จบลง หลายคนถามว่า ‘หลังจากนั้นแล้ว โต๊ะโตะจังเป็นอย่างไร เธอโตขึ้นเป็นอะไร เป็นอย่างที่เคยคาดหวังไว้มากมายหรือเปล่า’
‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ พิมพ์เล่มภาษาญี่ปุ่นครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2524 และในเดือนกรกฎาคม ปีต่อมา นิตยสาร ‘โชเซ็ตสึชินโจ’ ก็ตีพิมพ์เรื่อง ‘นางสาวโต๊ะโตะ’ บทแรก ต่อเนื่องจนจบบทสุดท้ายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2527 ครั้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2527 ‘นางสาวโต๊ะโตะ’ ก็พิมพ์เป็นเล่มภาษาญี่ปุ่นครั้งแรก
เรื่อง ‘นางสาวโต๊ะโตะ’ (หรือ‘โทรทัศน์ของโต๊ะโตะจัง’) เปรียบเสมือนบทละครโทรทัศน์หลายบท แต่ละบทแต่ละตอนล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของชีวิตที่แตกต่างกัน เรื่องราวต่าง ๆ อาจจะคั่นสลับด้วยความคิดย้อนกลับไปสู่อดีต แสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิด การเปรียบเทียบสภาพสังคม ผู้คน วัฒนธรรม และปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ซ่อนลึกอยู่ในบทบาทของตัวละครแต่ละคน ได้ถ่ายทอดผ่านสายตาช่างสังเกต และด้วยความคิดที่ละเอียดอ่อน ไม่เหมือนใคร ของเด็กสาวซุกซนคนหนึ่ง
‘นางสาวโต๊ะโตะ’ ต่างจาก ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ในข้อที่ว่า เป็นช่วงที่โต๊ะโตะจังเริ่มโตเป็นสาว เธอได้พบเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ผจญกับสังคมผู้ใหญ่ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง จากวัยเด็กของเธอ ดูเหมือนเธอจะเขียนให้คนรุ่นหนุ่มสาวอ่านเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจในการปรับตัวให้เข้ากับสังคม ความผิดและการพลาดพลั้งต่าง ๆ ของโต๊ะโตะในเรื่อง ถ้าจะมองให้ลึกซึ้งนั่นคือการให้กำลังใจแก่ผู้ที่ทำอะไรผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เพราะชีวิตของเธอที่สามารถก้าวขึ้นสู่บันไดขั้นสูงสุดของอาชีพการแสดง และในสังคมชาวโลก เธอได้ผ่านความผิดพลาดต่าง ๆ ด้วยความอดทนอย่างยิ่งมามากมาย
หลังจากหนังสือสำคัญทั้งสองเรื่องของโต๊ะโตะ ได้พิมพ์เป็นภาษาไทยแล้ว เธอได้มีโอกาสมาเยือนเมืองไทยหลายครั้ง ทั้งในฐานะทูตพิเศษขององค์การยูนิเซฟแห่งสหประชาชาติและมาท่องเที่ยวส่วนตัว การที่หนังสือของเธอมีผู้อ่านชาวไทยนิยมชมชอบกันมากนั้น ทำให้เธอรู้สึกเป็นกันเองกับผู้คนในประเทศนี้มากขึ้น
และบันทึกของผู้แปลถึงผู้อ่านสำหรับหนังสือเล่มนี้ก็คือ —นี่คือคำตอบของคำถามที่ว่า ‘เมื่อโต๊ะโตะจังโตเป็นสาว เธอมีสายตามองสิ่งรอบกาย มองโลก และเพื่อนมนุษย์ เพื่อค้นหาความหมายในชีวิตอย่างไร—’
ผุสดี นาวาวิจิต
เมษายน พ.ศ. 2540