ความนำสำนักพิมพ์
‘น้องแป้ง’ นับเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังอีกเรื่องหนึ่งของ แอนน์ ไฟน์ ซึ่งเคยมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของนักวิจารณ์ นักอ่าน บรรณารักษ์ห้องสมุด และสถาบันวรรณกรรมสำคัญ ๆ มาแล้วหลายเรื่อง โดยที่เธอเคยได้รับรางวัลมากมายในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา
วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้มีลักษณะน่าสนใจเป็นพิเศษคือเป็นเรื่องที่มีชีวิตชีวา มีรสชาติ ได้ทั้งเนื้อหาและสาระ โดยผู้เขียนแทบจะไม่กล่าวถึงความถูกต้องดีงามทางศีลธรรมหรือคติสอนใจเลย แต่ทว่าผู้อ่านจะรู้สึกได้จากการแสดงออกและความคิดของตัวละคร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ตัวละครทุกตัวของเรื่องนี้มีชีวิต จนราวกับว่า ‘มีชีวิตจริง’ และนั่นเองที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตามไปกับความคิดที่ปรากฏออกมาในแต่ละบรรทัด ไม่ว่าความคิดนั้นจะเป็นการ ‘แก้ตัว’ ให้ตัวละครอีกตัวหนึ่ง หรือเป็นความคิดโต้แย้งที่ใครต่อใครเคยปักใจเชื่อว่าความคิดเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องดี
พฤติกรรมของตัวละคร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครทั้งตัวหลักและตัวประกอบ ล้วนแล้วแต่สมจริงจนอาจพบเห็นได้จากผู้คนรอบข้างในสังคมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนภาษาใด นักเขียนคนนี้สามารถเขียนเรื่องของวัยรุ่นได้อย่างเป็นสากลจนน่าทึ่ง ด้วยเหตุนี้เอง เรื่องของเธอแทบทุกเรื่องจึงถูกกำหนดเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของโรงเรียนมากมายในหลายสิบประเทศทั่วโลก
สำนักพิมพ์ผีเสื้อหวังว่า ผู้ที่มีลูกทั้งหลาย ผู้ที่เป็นลูกของพ่อแม่ หรือลูกที่ไม่มีพ่อไม่มีแม่ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กวัยรุ่น จะสนใจอ่านหนังสือเรื่องนี้ และแนะนำสิ่งที่เป็นสารประโยชน์แก่ชีวิตนี้ต่อไปยังผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้กำลังสร้างเป็นภาพยนตร์ ผู้อ่านทั้งหลายก็อาจจะมีโอกาสได้เห็นภาพการตีความของคนอีกกลุ่มหนึ่งทำภาพเคลื่อนไหว
หนังสือเรื่องนี้นับเป็นผลงานที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อภูมิใจเป็นพิเศษอีกเรื่องหนึ่งในบรรดาหนังสือที่เคยพิมพ์มาแล้วและกำลังจัดพิมพ์ ข้อที่ภูมิใจเป็นพิเศษนั้นก็ด้วยเห็นว่า เรื่องทำนองนี้น่าจะเป็นประโยชน์ทางความคิดแก่วัยรุ่นของไทยไม่น้อย—ถ้าหากพวกเขาได้อ่าน
สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
ธันวาคม พ.ศ. 2539