พระบิดาแห่งวิชาบรรณาธิการต้นฉบับ

เมื่อครั้งที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เปิดอบรมวิชาบรรณาธิการต้นฉบับ สำหรับบุคคลภายนอกครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้น ผู้บรรยายได้ประกาศว่า ปฐมบรรณาธิการต้นฉบับของประเทศไทย เท่าที่ปรากฏว่าได้ทำหน้าที่ตรวจแก้ต้นฉบับอย่างเป็นระเบียบวิธีของการตรวจแก้ต้นฉบับ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เนื่องจากได้ทรงตรวจแก้การใช้ภาษาของข้าราชการและประชาชนทั้งหลาย เป็นประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังได้ยกตัวอย่าง ประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒

ประกาศให้ใช้คำ กับ, แก่, แด่, แต่, ต่อ, ใน, ยัง, ในที่ควร
ณ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๕ ค่ำ ปีมะแม เอกศก

ประกาศให้คนเขียนหนังสือทั้งปวงทราบทั่วแล้วสังเกตใช้ ให้ถูกในที่ควรจะ ว่า (กับ) ว่า (แก่) ว่า (แด่) ว่า (แต่) ว่า (ต่อ) ว่า (ใน) ว่า (ยัง) จงสังเกตให้แน่แล้วใช้ให้ถูก อย่าให้เป็นกับไปทุกแห่ง แลอย่ากลัว (กับ) งกเงิ่นไป ฯ คนสองคนสามคนขึ้นไปทำกิริยาเหมือนกันใช้ว่ากับ ผัวนอนกับเมีย ผัวอยู่กับเมีย นายไปกับบ่าว คนหนึ่งนั่งพูดเล่นกับคนหนึ่ง นายปรึกษากับบ่าว บุตรร่วมสุขร่วมทุกข์กับบิดามารดา ลูกค้าซื้อขายกับชาวบ้าน ขุนนางเจรจากับแขกเมือง ละครเล่นกับตลกคนหนึ่ง วิวาทกับเพื่อนบ้าน ผู้ร้ายตีรันกันกับเจ้าเรือน คนโทษไปกับผู้คุม อะไรอื่นๆ เช่นนี้มีมากมายนัก เอาที่คนสองคนสามคนหรือมากทำกิริยาเดียวกัน ทำด้วยกันจึงใช้กับ ฯ อนึ่ง ถ้าเป็นของที่ไปด้วย มาด้วย อยู่ด้วย ได้มาด้วย เสียไป หายไปด้วยกัน ก็ว่ากับได้ เหมือนหนึ่ง คนไปกับย่ามของตัว ไปกับดาบแลปืนของตัว ก็ว่าได้ คนมากับหาบสิ่งของ คนแก่มากับไม้เท้า คนมากับช้าง กับม้า กับโค กับกระบือ คนอยู่กับหีบผ้า ทองเก็บไว้กับเงิน ผ้ากับเสื้ออยู่ด้วยกัน คนได้มีดมากับด้าม ได้ขวานมากับสิ่ว ได้ปืนมากับดินดำ ได้เกวียนมา กับวัว หีบไฟไหม้เสียกับผ้า เงินหายไปกับถุงด้วยกัน ฯ ของก็ดี สัตว์ก็ดี คนก็ดี อยู่ด้วยกัน ไปด้วยกัน ทำอะไรด้วยกัน ต้องที่จะออกชื่อด้วยกัน ว่ากับได้สิ้น คือเงินกับทอง หม้อข้าวกับเชิงกราน บังเหียนกับม้า ตะพดกับโค สายสนตะพายกับกระบือ นกกับกรง ทหารกับปืน คนกับช้าง ม้ากับรถ โคกับเกวียน คนกับร้องเท้า ช้างกับม้า ลากับอูฐ บุตรกับบิดา ข้ากับเจ้า เรือกับคน อะไร ๆ เป็นอันมากที่ไปด้วยกันมาด้วยกันอยู่ด้วยกัน ทำอะไรด้วยกันว่ากับได้หมด แต่ถวาย แลให้ แลรับ แลเรียกเอา บอกเล่า ว่ากับไม่ได้เลย ฯ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในหลวง ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายในเจ้าต่างกรม กำนันให้ท่านเสนาบดีฯ ถวายพระพรแด่พระเจ้าอยู่หัว กราบทูลพระกรุณาแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว กราบทูลต่อเจ้าต่างกรม เจ้ายังไม่ได้ตั้งกรม เรียนต่อ ท่านเสนาบดี แจ้งความต่อผู้สำเร็จราชการเมือง กรมการฟ้องต่อลูกขุน ณ ศาลหลวง ให้ใช้ใน แด่ ต่อ โดยสมควร นอกกว่านี้ใช้แก่คือพระราชทานแก่ ให้แก่ บอกแก่ แจ้งความแก่ ทำโทษแก่ ลงโทษแก่ ใครๆ อะไรๆ ว่าไม่สุดแล้ว คำที่ต่อกับ แจ้งแก่ ร้องเรียกแก่ ทำคุณแก่ ทำให้แก่ บอกให้แก่ แจกจ่ายแก่ เสียไปแก่ ลงพระราชอาญาแก่ ให้ปรับไหมแก่ ได้แก่ เสียแก่ ไว้แก่ ไว้ใจแก่ ไว้ความแก่ เอ็นดูแก่ เห็นแก่ ให้ถ้อยคำแก่ ยอมแก่ โกรธแก่ ไว้ธุระแก่ ให้ศิลให้พรแก่ สมควรแก่ จงมีแก่ สงสารแก่ อนุเคราะห์แก่ ขายให้แก่ ให้ช่องแก่ แลอื่น ๆ ที่คล้ายกันให้ว่าแก่ อย่าว่ากับเลย เหมือนคำที่ควรว่าแต่นั้น คือ รับแต่ ขอแต่ เอาแต่ เรียกเอาแต่ ได้พระราชทานแต่ ได้อนุเคราะห์แต่ เรียกภาษีแต่ เอามาแต่ ฟังแต่ มาแต่ ซื้อมาแต่ เรียกเอาแต่ เก็บเอาแต่ รู้แต่ และอื่น ๆ ใช้แต่ในที่ว่าด้วยต้นทางมา

ประกาศมา ณ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรมห้าค่ำ ปีมะแม เอกศก

เพื่อให้เห็นชัดเจน อ่านสะดวก ขอนำมาเรียงใหม่ดังนี้

คนสองคนสามคนขึ้นไปทำกิริยาเหมือนกันใช้ว่า กับ ผัวนอนกับเมีย ผัวอยู่กับเมีย นายไปกับบ่าว คนหนึ่งนั่งพูดเล่นกับคนหนึ่ง นายปรึกษากับบ่าว บุตรร่วมสุขร่วมทุกข์กับบิดามารดา ลูกค้าซื้อขายกับชาวบ้าน ขุนนางเจรจากับแขกเมือง ละครเล่นกับตลกคนหนึ่ง วิวาทกับเพื่อนบ้าน ผู้ร้ายตีรันกันกับเจ้าเรือน คนโทษไปกับผู้คุม อะไรอื่นๆ เช่นนี้มีมากมายนัก เอาที่คนสองคนสามคนหรือมากทำกิริยาเดียวกัน ทำด้วยกันจึงใช้กับ ฯ อนึ่ง ถ้าเป็นของที่ไปด้วย มาด้วย อยู่ด้วย ได้มาด้วย เสียไป หายไปด้วยกัน ก็ว่ากับได้ เหมือนหนึ่ง คนไปกับย่ามของตัว ไปกับดาบแลปืนของตัว ก็ว่าได้ คนมากับหาบสิ่งของ คนแก่มากับไม้เท้า คนมากับช้าง กับม้า กับโค กับกระบือ คนอยู่กับหีบผ้า ทองเก็บไว้กับเงิน ผ้ากับเสื้ออยู่ด้วยกัน คนได้มีดมากับด้าม ได้ขวานมากับสิ่ว ได้ปืนมากับดินดำ ได้เกวียนมากับวัว หีบไฟไหม้เสียกับผ้า เงินหายไปกับถุงด้วยกัน ฯ ของก็ดี สัตว์ก็ดี คนก็ดี อยู่ด้วยกัน ไปด้วยกัน ทำอะไรด้วยกัน ต้องที่จะออกชื่อด้วยกัน ว่า กับได้สิ้น คือเงินกับทอง หม้อข้าวกับเชิงกราน บังเหียนกับม้า ตะพดกับโค สายสนตะพายกับกระบือ นกกับกรง ทหารกับปืน คนกับช้าง ม้ากับรถ โคกับเกวียน คนกับรองเท้า ช้างกับม้า ลากับอูฐ บุตรกับบิดา ข้ากับเจ้า เรือกับคน อะไร ๆ เป็นอันมากที่ไปด้วยกัน มาด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ทำอะไรด้วยกัน ว่า กับได้หมด แต่ถวาย แลให้ แลรับ แลเรียกเอา บอกเล่า ว่า กับ ไม่ได้เลย ฯ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในหลวง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายในเจ้าต่างกรม กำนันให้ท่านเสนาบดีฯ ถวายพระพรแด่พระเจ้าอยู่หัว กราบทูลพระกรุณาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบทูลต่อเจ้าต่างกรม เจ้ายังไม่ได้ตั้งกรม เรียนต่อท่านเสนาบดี แจ้งความต่อผู้สำเร็จราชการเมือง กรมการฟ้องต่อลูกขุน ณ ศาลหลวง ให้ใช้ใน แด่ ต่อ โดยสมควร นอกกว่านี้ใช้ แก่ คือ พระราชทานแก่ ให้แก่ บอกแก่ แจ้งความแก่ ทำโทษแก่ ลงโทษแก่ ใครๆ อะไรๆ ว่าไม่สุดแล้ว คำที่ต่อกับ แจ้งแก่ ร้องเรียกแก่ ทำคุณแก่ ทำให้แก่ บอกให้แก่ แจกจ่ายแก่ เสียไปแก่ ลงพระราชอาญาแก่ ให้ปรับไหมแก่ ได้แก่ เสียแก่ ไว้แก่ ไว้ใจแก่ ไว้ความแก่ เอ็นดูแก่ เห็นแก่ ให้ถ้อยคำแก่ ยอมแก่ โกรธแก่ ไว้ธุระแก่ ให้ศิลให้พรแก่ สมควรแก่ จงมีแก่ สงสารแก่ อนุเคราะห์แก่ ขายให้แก่ ให้ช่องแก่ แลอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ให้ว่า แก่ อย่าว่ากับเลย เหมือนคำที่ควรว่า แต่ นั้น คือ รับแต่ ขอแต่ เอาแต่ เรียกเอาแต่ ได้พระราชทานแต่ ได้อนุเคราะห์แต่ เรียกภาษีแต่ เอามาแต่ ฟังแต่ มาแต่ ซื้อมาแต่ เรียกเอาแต่ เก็บเอาแต่ รู้แต่ และอื่น ๆ ใช้ แต่ ในที่ว่าด้วยต้นทางมา

(เพิ่มเติม ๑ มกราคม ๒๕๕๑)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *