บันทึกผู้แปล
เรื่องของฌ็อง-โดมินิก โบบี้ ซึ่งเป็นอัมพาตทั้งตัว แต่เขียน หนังสือโดยเลิกเปลือกตาข้างซ้ายเลือกตัวอักษรซึ่งมีผู้ท่องให้ฟัง ทำให้ผู้แปลประทับใจตั้งแต่ได้ทราบข่าวเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2540 ทั้งๆที่ยังไม่ได้เห็นหนังสือ ก็แน่ใจว่าต้องเป็นหนังสือวิเศษ ประการแรก เพราะโบบี้เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร ELLE ซึ่งย่อมเป็นผู้ที่สั่งสมความรู้จากการอ่านมาก หูกว้างตากว้าง และถึงพร้อมด้วย ศิลปะโวหาร ประการที่สอง ผู้แปลเชื่อว่า บุคคลใดก็ตามซึ่งตกอยู่ในสภาพช่วยตนเองไม่ได้เช่นนี้ แต่ยังสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ บุคคลนั้นย่อมไม่ทำให้ผู้อ่านผิดหวัง แม้ยังไม่ได้เห็นหนังสือ ผู้แปลก็ปรารถนาจะแปลหนังสือเล่มนี้หวังให้งานประพันธ์ของเขาเป็นตัวอย่างแก่บุคคลทั่วไป ทั้งผู้ที่ร่างกายสมบูรณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทุพพลภาพ
เมื่อหนังสือเล่มนี้มาถึงมือผู้แปล ด้วยความเอื้อเฟื้อ ของคนไทยคนหนึ่งซึ่งไปฝรั่งเศสในช่วงสั้นเพียงสัปดาห์เดียว ผู้แปลก็ได้อ่านอย่างตื้นตันใจ เพราะทราบข่าวว่าผู้แต่งจาก โลกนี้ไปแล้ว หลังจากหนังสือของเขาปรากฏสู่สาธารณะ เพียงสามวัน
เนื้อหาของหนังสือ ลีลาการเขียน และอารมณ์ขันของผู้แต่งก็ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจ ประกอบกับผู้แปลได้รับทุนนักแปลจากกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส ให้ไปค้นคว้าและทำงานแปลที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลานาน 3 เดือน คือ ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-30 กันยายน พ.ศ.2540 จึงเป็นโอกาสดียิ่งที่จะได้ติดตามเบื้องหลังการเขียนหนังสือนี้
ที่ปารีส ผู้แปลได้พบโกล็ด ม็องดิบิล บรรณาธิการต้นฉบับอิสระจากสำนักพิมพ์โรแบร์ต์ ลัฟฟงต์ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับโบบี้นานสองเดือนเต็มระหว่างกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ.2539 ณ โรงพยาบาลริมทะเลเมืองแบร์ก-ปลาช ทางเหนือของฝรั่งเศส และร่วมตรวจแก้ไขอีกสองสัปดาห์ ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน
โกล็ดได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการเขียนหนังสือเล่มนี้โดยละเอียด เธอท่องตัวอักษรซึ่งเรียงตามความถี่ในการใช้ โบบี้เลิกเปลือกตาซ้ายซึ่งเป็นอวัยวะส่วนเดียวที่เขาขยับเขยื้อนได้ เมื่อถึงอักษรที่เขาต้องการ เลือกไว้ทีละตัว ผสมเป็นคำ ทีละคำ รวมเป็นประโยค ย่อหน้า และบท โบบี้แต่งเรื่องและท่องจำไว้ก่อน แล้วจึงเขียนคำบอกแก่โกล็ด
ผู้แปลได้ไปยังโรงพยาบาลริมทะเลที่เมืองแบร์ก-ปลาช ทางเหนือของประเทศฝรั่งเศส ได้พบช็องดรีน ฟิชชู นักสัทบำบัด “แม่ทูนหัวของโบบี้ ช็องดรีนฝึกการออกเสียง ให้เขา เธอได้พาผู้แปลเยี่ยมชมโรงพยาบาล ตามรอยและตามสายตาของโบบี้ทุกหนแห่งจากโรงพยาบาลถึงชายหาดยาวเหยียด มาดามโอดีล โบโต้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเล่าให้ฟังอย่างภูมิใจถึงเบื้องหลังของฉากและวัตถุประกอบซึ่งโบบี้กล่าวถึงในหนังสือ เป็นข้อมูลที่โบบี้ไม่ได้รับทราบและโกล็ดก็ยังไม่รู้
ที่โรงพยาบาลนั้นเอง ผู้แปลได้ตระหนักว่า หนังสือเรื่อง“ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ”เป็นตัวอย่างและเป็นกำลังใจดียิ่งแก่ผู้ป่วยอัมพาต อีกทั้งเป็นเครื่องเตือนใจแก่ฝ่ายรักษาพยาบาล ซึ่งบางครั้งหลงลืมไปว่าผู้ป่วยที่ขยับเขยื้อนไม่ได้ พูดไม่ได้นั้นยังเป็น“คน”อยู่ มารดาของผู้ป่วยคนหนึ่ง เมื่อทราบว่าผู้แปลกำลังแปลหนังสือเรื่องนี้ของโบบี้ ก็ออกมาเชิญให้เข้าไปพูดคุยกับลูกชายวัย 40 ซึ่งเป็นอัมพาตทั้งตัว ครั้นกลับมาปารีส โกล็ดได้พาผู้แปลไปยังหลุมศพของโบบี้ในสุสานแปร์ ลาแซส โกล็ดกล่าวว่า การได้ทำงานเขียนกับโบบี้นั้นนับเป็น “ประสบการณ์วิเศษสุดสำหรับเธอ ช็องดรีนบอกว่า การได้ทำงานด้านออกเสียงกับโบบี้ เป็นโอกาสที่ไม่เคยมี
สำหรับผู้แปล การแปลเรื่องนี้เป็นทั้งประสบการณ์ วิเศษสุดและโอกาสที่ไม่เคยมี เป็นความสนุก และความสุข เกินคำบรรยาย จากคำบอกเล่าของโกล็ดและช็องดรีน จากบทความ และบทวิจารณ์จำนวนมากเกี่ยวกับใบบี้และหนังสือของเขา ทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ จากสิ่งที่ได้เห็นได้ฟัง ในการเดินทางไปเมืองแบร์ก-ปลาชโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก “ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ” อีกทั้งข้อเขียนอื่น ๆ ของโบบี้ที่ เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร ELLE ทำให้ผู้แปลรู้สึกว่าตนเองรู้จัก โบบี้ชื่นชมที่เขามีความวิริยะอุตสาหะ นอกเหนือจากความ สามารถในฐานะนักประพันธ์ ตื้นตันในการไม่ยอมพ่ายแพ้ ต่อชะตาชีวิตของเขา ขณะที่ป่วย โบบี้ได้จัดตั้งสมาคมผู้ป่วยอัมพาตทั้งตัว (A.L.I.S.) มีวัตถุประสงค์จะช่วยเหลือ ผู้ป่วยให้ดำรงชีวิตในฐานะ“คน”คนหนึ่งในสังคม ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นผ่านคอมพิวเตอร์ที่สั่งงานด้วยสายตา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการฟื้นฟูทางกายภาพ และมีส่วนร่วมจัดทำวารสารเชิงศิลปะและวัฒนธรรม สมาคมนี้ยังคงดำเนินงานต่อไป ถึงแม้โบบี้จะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม
ผู้แปลขอขอบคุณ Claude Mendibil และ Sandrine Fichou ที่ช่วยให้การทำงานเบื้องหลังการแปลนี้เป็นไปอย่างครบถ้วนกระบวนความ ขอบคุณ Isabelle Hodara เพื่อนที่ แสนดีซึ่งพาผู้แปลไปยังเมืองแบร์ก-ปลาช ร่วมรับรู้เรื่องราว ประสบการณ์ของโบบี้และผู้เกี่ยวข้องที่โรงพยาบาลริมทะเล ด้วยความสนใจ ขอขอบคุณ Jean-Pierre Goldenstein, Dominique Jacquier, Hubert Sales, Paul Vincent รวมทั้ง เพื่อนชาวฝรั่งเศสและชาวไทยในปารีสอีกมากหลายที่ได้ให้ ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่รวมทั้งบุคคลในปัจจุบัน ซึ่งผู้แปลไม่อาจค้นจากสารานุกรมเล่มใดๆได้ ขอขอบคุณบรรณาธิการ ต้นฉบับแปลของหนังสือเล่มนี้ และท้ายสุด ขอคารวะ Jean- Dominique Bauby
วัลยา วิวัฒน์ศร
ปารีส
31 กรกฎาคม พ.ศ. 2540