ความนำสำนักพิมพ์
เมื่อ ค.ศ. 1982 วงการหนังสือเยาวชนทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ตื่นเต้นกันมาก เมื่อปรากฏหนังสือ ‘The BFG’ หรือ ‘ย.จ.ด.’ บรรดานักอ่านที่เป็น‘แฟน’ของโรอัลด์ ดาห์ลทำให้หนังสือ เรื่องนี้เป็นหนังสือขายดีอีกเล่มหนึ่ง หลังจากวางตลาดได้ไม่นาน เพราะมีฉบับภาษาอังกฤษพร้อมกันทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
หนังสือนี้เป็นจินตนาการเหนือจริงที่ทันสมัย(ขณะนั้น และจนทุกวันนี้) มีตัวละครที่เป็นคนจริงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ที่สำคัญคือ สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษซึ่งเมื่อหนังสือนี้วางจำหน่าย กระแสข่าวแจ้งว่าพระองค์ก็ทรงได้อ่านทรงชื่นชอบ และสำราญพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง
โรอัลด์ ดาห์ล เขียนเรื่องนี้โดยสวมบทบาทของตัวเอกคือ‘ย.จ.ด.’ ตลอดทั้งเรื่องผู้อ่านจะรู้ว่า เขามีทัศนะต่อโลก ต่อผู้ใหญ่ และเด็กอย่างไร
โรอัลด์ ดาห์ล เขียนเรื่องสั้นแนวระทึกขวัญได้น่าตื่นเต้นเร้าใจ ชวนติดตาม ขณะเดียวกันก็เขียนเรื่องเด็กได้สนุกสนาน มีแง่คิด‘ย.จ.ด.’ก็เสมือนได้นำจุดเด่นของเรื่องระทึกขวัญมาผสมผสานกับจินตนาการเหนือจริงได้อย่างแนบเนียน น่าทึ่ง ตื่นเต้น เร้าใจ และเต็มไปด้วยอารมณ์ขันตั้งแต่ต้น จนจบ
โรอัลด์ ดาห์ล เป็นพระเอกในเรื่องอย่างไม่ขัดเขิน และไม่เกินความจริง เขาได้ชักนำเด็กทั้งหลายให้เดินทางไปในโลกแห่งจินตนาการ โลกแห่งความคิดฝันที่ไม่หลุดพ้นจากความเป็นจริง เขาเสนอตัวเป็นมัคคุเทศก์แก่เด็กๆ มัคคุเทศก์ ผู้สามารถสารพัด แต่เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนและอ่อนโยนยิ่งนัก ในตอนท้ายผู้อ่านจะได้รู้ว่า เขาคิดแปลกๆ และมีอารมณ์ขันมากเพียงไหน ความปรารถนา ยิ่งใหญ่ อันสำคัญที่สุดในชีวิตยักษ์ใจดีคืออะไร
เนื่องจากจินตนาการเหนือจริงเรื่องนี้ไปไกลขั้นที่ใช้ภาษาพิเศษของยักษ์ การแปลภาษาไทยจึงถอดความให้ใกล้เคียงต้นฉบับเดิมมากที่สุด ดังนั้น ภาษายักษ์ที่ใช้จึงผิดแผกแตกต่างไปจากภาษาไทยมาตรฐาน ภาษายักษ์ในเรื่องนี้เป็นภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง (เฉพาะที่ยักษ์ใช้) อิงจากพจนานุกรม Oxford Roald Dahl Dictionary
การพิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ผีเสื้อใช้ชื่อ ‘ยักษ์ใจดี’ ฉบับพิมพ์ซ้ำครั้งนี้ได้เปลี่ยนชื่อให้ตรงกับภาษาอังกฤษ คือ B F G ภาษาไทยจึงเป็น ย.จ. ด.
สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
ตุลาคม พ.ศ. 2540, กรกฎาคม พ.ศ. 2561