รูปปกแต่ละรูป (รวมทั้งรูปประกอบ) มีความเป็นมาต่างกัน รูปบางรูปเขียนขึ้นเพื่อเป็นปกของหนังสือเล่มนั้นๆ เขียนหนเดียวใช้การได้ และใช้เป็นปกหนังสือเล่มนั้นจริงๆ แต่บางรูป เดินทางยาวนาน คดเคี้ยววกวนบ้าง เป็นทางตรงบ้าง หลบซ่อน ซุก และต้องค้นหากันบ้าง หรือบางรูปอาจผ่านกาลเวลามานานนับด้วยทศวรรษ บางรูปเกินกว่า ๑๐ ปี ๒๐ ปี แต่ก็ไม่มีโอกาสได้แสดงบทบาทสมเป็นรูปปก ได้แต่ชื่นชมกันในหมู่ฅนของผีเสื้อเพียงไม่กี่คน อาจกล่าวได้ว่า เรื่องราวของรูปปกหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ หากเขียนเป็นนวนิยาย ตำรา หรือเรื่องเล่า อาจจะได้หนังสือสนุกๆ เล่มหนาสักเล่มทีเดียวแต่บางที การเขียนเรื่องยาวๆอาจจะน่าเบื่อ และคงรอกันอีกนานข้ามทศวรรษ หากจะให้เขียนเป็นเล่มหนังสือ จึงเริ่มต้นสั้นๆ ง่ายๆ ก่อน ด้วยการบอกเล่าเรื่องรูปแต่ละรูปที่ผู้อ่านได้เห็นในเว็บไซต์นี้ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร บางรูปเป็นปกหนังสือไปแล้ว หลายรูปกำลังรอพิมพ์ บางรูปอาจจะไม่ได้เป็นปก แต่กลายเป็นอย่างอื่น ผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ ‘เล่าเรื่องรูป’ จะแสดงความคิดเห็นไว้ท้ายบทความก็ยินดียิ่ง จะได้บันทึกความคิดความเห็น และความรู้สึกไว้ร่วมกันในฐานะครอบครัวสำนักพิมพ์ผีเสื้อ — ด้วยว่าเรานั้นต่างเสมือนญาติ-มิตร
“ความร่วมมือในระบบหนังสือ ระหว่างเอกชนกับรัฐบาล”
ผลงาน : อภิชัย วิจิตรปิยกุล
เท็คนิค : สีอะครีลิค บนผ้าใบ, ขนาด : ๔๔ x ๖๔ เซนติเมตร
เมื่อครั้งที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ตกลงกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสมัยนั้น กับฅนในสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ผู้เสนอแนวคิด ‘ระบบหนังสือและการอ่านแห่งชาติ’ ว่า เห็นชอบ เห็นประโยชน์ และเข้าใจดีถึงความสำคัญ ความจำเป็น ในแนวคิดจะจัดตั้ง ‘สถาบันหนังสือแห่งชาติ’ โดยผ่านพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะย่นย่อเวลาและทำได้เร็วกว่าเสนอพระราชบัญญัติผ่านรัฐสภา เพราะพระราชกฤษฎีกาเสนอตามมติคณะรัฐมนตรี
แนวทางความคิดเห็นและข้อตกลงก็คือ รัฐบาล โดยรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีดำเนินการด้านกฎหมาย งบประมาณ และสั่งการหรือประสานงานส่วนราชการ คณะทำงานภาคเอกชนจะดำเนินงานด้านประชุมสัมนาระดมความคิดผู้เกี่ยวข้องในวิชาชีพระบบหนังสือทั้งหลายทั่วประเทศ ประมวลข้อมูลทั้งที่ศึกษามาแล้ว และข้อมูลความจำเป็นใหม่ๆ เพื่อนำมาเขียนโครงร่างสถาบันหนังสือแห่งชาติ ก่อนจะเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา
เมื่อมีโครงการใหญ่เช่นนี้ เกิดความคิดขึ้นว่า น่าจะพิมพ์โปสเตอร์สักแผ่น แสดงสัญลักษณ์ความร่วมมือและการริเริ่มสถาบันที่จะดำเนินงานเรื่องระบบหนังสือของประเทศไทยกันจริงจัง
จึงได้ขอร้องคุณอภิชัย วิจิตรปิยกุล บรรณาธิการฝ่ายศิลป์ และช่างเขียนฅนหนึ่งในสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ว่า ช่วยเขียนรูปสักรูปหนึ่งเถิด ในเวลาอันรวดเร็วด้วยนะ เพราะหลังจากหารือกันกับรัฐมนตรีฯแล้ว ก็กำหนดวันเวลาแถลงข่าว ในวันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ เวลาเพียง ๒ เดือน จะเตรียมการอะไรทันก็ยังไม่รู้เลย
พูดคุยหารือกับช่างเขียนรูปว่า รูปที่จะเขียนนี้รูปเดียวควรเป็นได้ทั้งโปสเต้อร์ แผ่นพับ ไปรษณียบัตร ที่คั่นหนังสือ แผ่นรองแก้วน้ำ แผ่นรองจาน ปกหนังสือ ปกเอกสาร แฟ้มการประชุมสัมนา รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์บนเวทีประชุมแต่ละครั้ง และแม้แต่พิมพ์เสื้อยืด ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดปาก สมุดบันทึก หรือสิ่งของอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งจะตามมาในอนาคต เพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกและหารายได้สนับสนุนการทำงานด้วย จะได้ไม่ต้องใช้งบประมาณราชการ เช่นเดียวกับการทำงานส่วนอื่นๆของเราในโครงการนี้
เราลองนึกภาพกันทุกแง่ทุกมุม มุมแรกก็ในฐานะงานนี้เป็นงานใหญ่ งานที่จะสร้างชาติด้านสรรพวิชาความรู้กันทีเดียว—และในมุมของช่างเขียนภาพเล่า เขาก็รู้ว่างานนี้เป็นงานสำคัญ ฅนอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างคุณอภิชัยจึงไม่อยากรับงานที่อาจต้องออกไปพบผู้ฅน ออกตัวว่าฝีมือยังไม่ถึงขั้นจะทำงานระดับชาติ ทั้งๆที่เขาร่วมทำงานเขียนรูปวาดภาพปกของผีเสื้อมากว่า ๒๐ ปีแล้ว ทำงานอย่างรู้จักรู้ใจกัน และรู้เรื่องควรไม่ควรทั้งสิ้นทั้งปวงดี เมื่อรู้ว่างานนี้ต้องรีบทำ เพราะยังมีหนทางอีกยาวไกล เราต้องจัดการอีกหลายเรื่องหลายอย่างตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ต้องระดมผู้ฅนมาช่วยกันแสดงความคิดความเห็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหม่ (แม้บางเรื่องจะเป็นเรื่องเก่า แต่ก็เป็นเรื่องเก่าที่เดินไปตามจังหวะจะโคนเดิมๆมานานเต็มที) จึงพยักหน้าหงึกๆ บอกว่า “ผมจะกลับไปคิด และรีบทำ”
คุณอภิชัยหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับการเขียนรูปนี้นานนับเดือน ทั้งๆที่ปกติเป็นฅนทำงานเร็ว ถ้าไม่มีอะไรบีบคั้น ปกหนังสืออย่างประณีต ใช้เวลาเพียงไม่เกินสัปดาห์—อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเราก็ได้เห็นรูปที่ชื่อ ‘ความร่วมมือในระบบหนังสือ ระหว่างเอกชนกับรัฐบาล’
คุณอภิชัยอธิบายว่า
“ผมคิด ถึงเรื่องความร่วมมือร่วมใจ การเติบโต
ความผลิบาน และความมั่นคง
ภาพ ชายสองฅนยืนจับมือกัน หนังสือเล่มหนึ่งแผ่ออกบังศีรษะของฅนทั้งสอง
หนังสือแต่ละหน้ามีใบหน้าของชายทั้งสองปรากฏอยู่ ต่างส่งยิ้มให้กันและกัน
หมายถึงความร่วมมือในการก่อตั้งสถาบัน
รูปทรงพีระมิด
สื่อถึงความมั่นคง การไปสู่จุดสูงสุด
ใบไม้ ดอกไม้
คือการเติบโต และผลิบาน—“
ทุกสิ่งทุกอย่างมีความหมายครบถ้วนอยู่ในรูปวาดนั้น ช่างเขียนรูปและช่างจินตนาการก็คิดฝันเหมือนกัน นั่นคือหวังให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้
‘สังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้’ นี่แหละคือถ้อยคำสวยหรูที่พูดกันมานานนับครึ่งศตวรรษแล้ว บัดนี้ถึงเวลาที่จะแปรถ้อยคำเป็นการกระทำจริงจังด้วยนโยบายหลักแห่งชาติเสียที
ระหว่างพิจารณารูป ถามคุณอภิชัยว่า ถ้าฅนสองฅนนั้น ฅนหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกฅนหนึ่งเป็นเอกชน ฅนไหนคือรัฐบาล
เขายิ้ม ไม่ตอบ
จึงอ่านใจเขาจากรูปว่า
“ฅนรัฐบาลน่าจะเป็นฅนที่ล้วงกระเป๋าและยืนยืดตัวสูงกว่า—
เรารู้สึกเสมอมิใช่หรือว่า ฅนรัฐบาลมักยืนเขย่ง มือล้วงกระเป๋า—“
แต่ก็ช่างเถิด ผ่านเรื่องหวาดระแวงไปก่อน—
เมื่อฅนในรัฐบาล เป็นถึงรัฐมนตรีอุตส่าห์เดินเข้าซอยมาเพื่อพูดคุยกับฅนในสำนักพิมพ์เล็กๆ
เรื่องระบบหนังสือและการอ่านของประชาชนในชาติที่เอกชนนั้นเองเคยประกาศไว้ว่า
‘ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีสถาบันหนังสือแห่งชาติ’
เพียงเดินเข้าซอยมาหา เท่านั้นก็ซึ้งใจแล้ว เรื่องข้างหน้าคงต้องวางใจกัน
งานใหญ่ ชุลมุนวุ่นวายจริงๆ ยิ่งเมื่อข้าราชการในกระทรวงฯนั้นเองยังไม่เข้าใจว่า เหตุใดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงต้องมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องหนังสือ และการอ่านของฅนในประเทศ อีกทั้งกระทรวงนี้เป็นกระทรวงใหม่ มีข้าราชการไม่มากนัก การจะขอฅนของกระทรวงมาช่วยงานนั้นแสนยาก ต้องตอบคำถามสำนักนโยบายและแผนของกระทรวงฯไป ๒-๓ ครั้งว่า
‘เรื่องหนังสือและการอ่าน ประดุจแขนขาและเรือนร่างของระบบ
ขณะที่ไอซีทีเป็นเสมือนมันสมอง ถ้าไม่มีแขนขา ไม่มีเรือนร่าง
สิ่งที่ไอซีทีมีหรือจะมีในอนาคต ก็เป็นเสมือนผีหัวขาด’
และท้ายที่สุดก็ต้องอ้างต่างประเทศว่า ‘ประเทศที่เขาเจริญรุ่งเรืองทันสมัยด้านการศึกษา
และไอที เขามักบริหารสองสิ่งนี้ในกระทรวงเดียวกัน เช่น สิงคโปร์เป็นต้น’ แต่ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่าง
สรุปก็คือ มีผู้ช่วยซึ่งรัฐมนตรีขอยืมมาจากหน่วยงานอื่น ๑ ฅน นอกนั้นฅนของผีเสื้อต้องระดมกันทำงาน ที่สุดจึงต้องตัดสินใจปิดสำนักพิมพ์ชั่วคราวในกลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕
การจัดประชุมเพื่อแถลงข่าวโครงการครั้งแรก อันถือเป็นงานประชาสัมพันธ์ ดำเนินไปทุลักทุเล เพราะไม่มีฅนทำงานเลย แม้แต่พิธีกร—ย้อนไปแม้กระทั่งจดหมายเชิญ ก็ต้องนำซองขาวมาพิมพ์ตราครุฑเอง ด้วยว่าซองครุฑที่ได้มาจากกระทรวงฯนั้นมีไม่กี่สิบซอง จนมีฅนเย้าว่า “ฅนราชการเขาเอาซองครุฑไปส่งจดหมายส่วนตัว แต่นี่เอาซองขาวมาทำตราครุฑ’
งานแถลงข่าว สถาบันหนังสือแห่งชาติ ณ ศูนย์สารนิเทศ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. นับเป็นงานใหญ่ สื่อมวลชนมากมายคับคั่งทุกแขนง บุคคลผู้เกี่ยวข้องในวงการหนังสือที่สำคัญมาร่วมรับฟังแนวคิดและนโยบายซึ่งรัฐมนตรีของรัฐบาลชี้แจง มีผู้แสดงความคิดเห็นและชื่นชม ต่างก็ตั้งความหวังว่า การพัฒนาบ้านเมืองด้วยหนังสือจะเริ่มต้นจริงจังด้วยกระบวนการที่ครบถ้วนและเข้าใจจริง
ไม่มีภาพสัญลักษณ์จากรูปเขียนประดับ ไม่มีโปสเต้อร์ แผ่นพับ ไปรษณียบัตร ที่คั่นหนังสือ แผ่นรองแก้วน้ำ แผ่นรองจาน ปกหนังสือ ปกเอกสาร ไม่มีรูปสัญลักษณ์บนเวทีประชุม ไม่มีของที่ระลึกจำพวกเสื้อยืด ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดปาก สมุดบันทึก หรือแม้สิ่งของเล็กน้อยอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งหมายมั่นว่าจะทำเป็นของที่ระลึกเนื่องในโอกาสสำคัญเช่นนนี้ ไม่มีแม้แต่แฟ้มเอกสารการประชุม—
เอกสารการประชุมแถลงข่าวนั้น เป็นเพียงกระดาษถ่ายเอกสารเย็บมุมด้วยแถบกระดาษสีสามเหลี่ยมเล็กๆซึ่งตัดมาจากปกหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
แต่ก็น่ายินดีที่ข่าวสารแพร่หลายไปทั่วประเทศ ทุกกลุ่มสาขาวิชาชีพด้านหนังสือและผู้เกี่ยวข้อง มีผู้สนใจมากมายหลังจากนั้น และการเริ่มต้นงานสำคัญนี้ได้ดำเนินต่อไปจนเสร็จสิ้น (ไม่ว่าท้ายที่สุดมันจะถูกฉุดกระชากลากจูง หลงทางไปทางไหน ด้วยวิธีคิดของรัฐบาลซึ่งอาจไม่เข้าใจ หรือเข้าใจด้วยเหตุผลอันซ่อนเร้น ไม่เปิดเผยอย่างไร ก็ตาม)
ก่อนจะเริ่มแถลงข่าว รัฐมนตรีถามว่า มีร่างคำกล่าวนอกเหนือจากเอกสารที่แจกหรือไม่ ก็ตอบไปสั้นๆว่า
“พูดสิ่งที่อยู่ในใจเถิด แถลงด้วยใจ—“
ในที่สุด เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๗ เมื่อรู้แน่แล้วว่ารัฐบาลจะไม่ดำเนินการสิ่งที่ผู้ฅนจำนวนมากได้ร่วมทำงาน หารือ ร่วมกับฅนทั่วประเทศซึ่งตั้งความหวังไว้เต็มเปี่ยมในสิ่งที่เรียกว่า ‘สถาบันหนังสือแห่งชาติ’ และ ‘ระบบหนังสือ’ รูปวาดสำคัญรูปนั้นก็ได้กลายเป็นปกหนังสือ ชื่อ ‘สอนลูกให้ดี’
“ท้ายที่สุด มันได้เป็นเพียงภาพปกหรือ” มีฅนเคยถาม
“เปล่า—มันได้เป็นถึงภาพปกเชียวนะ ปกของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และหนังสือชื่อ สอนลูกให้ดี!”
“สอนลูกให้ดี” ลองออกเสียงในใจ ออกเสียงดังๆสิครับ เสียงที่ได้ยินว่า “สอนลูกให้ดี—” นั้นบอกอะไรแก่คุณบ้าง ทั้งที่เกี่ยวกับรูปวาด นอกเหนือไปจากรูปวาด และตัวคุณ!!
พิมพ์ครั้งแรกที่นี่ (วันจันทร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑)