เบื้องหลังการแปล เสน่ห์ตะวันออก ( La Tentation de l’Occident )

ธีรา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา

ถ้าจะว่าไป เสน่ห์ตะวันออก เป็นหนังสือที่มีเสน่ห์สมชื่อ เสน่ห์ที่ว่านี้อยู่ที่ความซับซ้อนทางความคิดของผู้ประพันธ์ และคงจะเป็นความซับซ้อนนี่เองที่ทำให้ผู้แปลได้มีโอกาสมาเล่าเรื่องเบื้องหลังการแปลหนังสือเล่มนี้

ก่อนแปล

           ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ รองศาสตราจารย์ ดร. วัลยา วิวัฒน์ศร ขึ้นไปบรรยายให้สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องการแปลงานเขียนของอ็องเดร มาลโรซ์ เพื่อเป็นที่ระลึกในการครบรอบ ๒๐ ปี แห่งการจากไปของนักเขียน นักการเมืองคนสำคัญของฝรั่งเศส และเป็นนักปราชญ์ นักอนุรักษ์คนสำคัญของโลก (ประเด็นสุดท้ายนี้ เราไม่ค่อยได้มองหรือได้รู้จักมาลโรซ์ในด้านนี้เท่าไร) ในฐานะผู้ประสานงานการจัดพิมพ์ผลงานแปลของมาลโรซ์ รองศาสตราจารย์ ดร. วัลยา เสนอให้แปล La Tentation de l’Occident ที่ตกปากรับคำอาจารย์อย่างรวดเร็วนั้น ก็เพราะไม่รู้มาก่อนว่าการแปลเป็นเรื่องยากเย็นเพียงใด เพราะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ตัวผู้แปลเองนั้นไม่รู้ศาสตร์การแปลเลย ไม่เคยศึกษาเรื่องการแปลมาก่อน แต่ที่ได้ตัดสินใจทำงานนี้ ก็พอจะมีเหตุผลอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่เหตุผลที่เกี่ยวกับการแปลแม้แต่ประการเดียว

           ประการแรก คือความชื่นชอบในตัวอ็องเดร มาลโรซ์ การศึกษาค้นคว้าเพื่อทำวิทยานิพนธ์สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบเรื่อง มาลโรซ์และอาเซีย ได้ทำให้เห็นอัจฉริยภาพ ความรอบรู้ทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และวิสัยทัศน์ที่มาลโรซ์มองยุโรป อาเซีย และโลก เมื่อจบการศึกษากลับมาบ้านเรา ผู้แปลได้เขียนบทความเกี่ยวกับมาลโรซ์บ้าง คือคิดว่าถ้าความคิดของนักประพันธ์ท่านนี้ได้แพร่หลายออกไป ก็จะเป็นการดีต่อสังคมไทยที่กำลังปรับเปลี่ยน มาลโรซ์สนใจตะวันออกมาก เป็นบุรพาภิวัฒน์ที่ฉลาดและแยบยล ข้อเขียนที่เขาเขียนถึงตะวันออกจะทำให้คนตะวันออกรู้ว่าคนตะวันตกพูดถึงคนตะวันออกว่าอย่างไร และคงจะต่อเลยไปถึงความสงสัยว่าทำไมจึงต้องพูดถึงเช่นนี้

           ประการต่อมา เมื่อสำนักวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส โดยคุณ จิลส์ หลุยส์ ในสมัยนั้นเสนอการแปลผลงานของมาลโรซ์ ผู้แปลในฐานะนักเขียนที่ได้รับทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปศึกษาเรื่องของอ็องเดร มาลโรซ์ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปฏิเสธ ตรงกันข้ามกลับเป็นความยินดีเสียอีกที่จะได้สนองพระคุณนักประพันธ์ผู้นี้ ที่แม้จะไม่มีตัวตนอยู่แล้ว แต่เป็นบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้ให้ความรู้มากมาย ขณะที่อ่าน ค้น และตักตวงเอาความสำเร็จจากงานของเขากลับมา

           ดังนั้นการตัดสินใจแปล La Tentation de l’Occident จึงอยู่บนพื้นฐานของคนที่รู้เรื่องมาลโรซ์มาก่อน ผู้แปลเพียงแต่คิดว่าได้ร่ำเรียนเขียนอ่านมาแล้วคงจะพอสู้ไหว แต่พอจับงานแปลเข้าจริงๆ ก็รู้ว่าจะต้องถ่ายทอดลีลาการเขียนของผู้ประพันธ์ที่สลับซับซ้อน รูปประโยคที่วกวนและมีหลายประโยคย่อยประกอบกัน ข้อสำคัญคือเรื่องที่เขาเขียนอ้างอิงโยงใยไปถึงความรู้ด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ปรัชญา ศาสนาและการเมือง เพราะฉะนั้นการแปล La Tentation de l’Occident จึงไม่ต่างอะไรกับการแปลข้อเขียนเชิงปรัชญา พอเริ่มลงมือแปลก็ต้องคิดว่าจะแปลความคิดและถ่ายทอดการใช้ภาษาของเขาออกมาให้สมบูรณ์ที่สุดได้อย่างไร

           การทำงานแปลของผู้แปลไม่เข้าข่ายนักแปลหรือผู้สอนแปลเลย ซึ่งทั้งนักแปลและผู้สอนแปลจะต้องเป็นผู้รู้ศาสตร์ในการแปล แม้ว่านักแปลอาจจะไม่เคยสอนแปลมาก่อนและผู้สอนแปลอาจจะไม่เคยมีผลงานแปลก็ตาม แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับ เสน่ห์ตะวันออก คือ แปลโดยผู้อยากแปล ซึ่งไม่ได้เป็นนักแปล เพราะไม่เคยมีผลงานแปลมาก่อนจึงไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นนักแปล อีกทั้งไม่ได้เป็นผู้สอนแปลด้วย ประสบการณ์ตรงนี้จึงเรียกได้ว่าขาดแคลนมาก ชนิดที่ไม่มีเอาเสียเลยจริงๆ

           ก่อนที่จะแปล ผู้แปลต้องใช้เวลาสร้างความตระหนักให้ตัวเองพอสมควร งานชิ้นนี้ที่จะพิมพ์ออกไปโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสไม่ใช่เรื่องล้อเล่น จะแปลแบบสุกเอาเผากินก็คงเสียชื่อตัวเอง และบรรณาธิการคงไม่ยอมเสียเวลาอ่านให้แน่นอน

“พอจับงานแปลเข้าจริงๆ ก็รู้ว่าจะต้องถ่ายทอดลีลาการเขียนของผู้ประพันธ์ที่สลับซับซ้อน รูปประโยคที่วกวนและมีหลายประโยคย่อยประกอบกัน ข้อสำคัญคือเรื่องที่เขาเขียนอ้างอิงโยงใยไปถึงความรู้ด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ปรัชญา ศาสนาและการเมือง”

           หนังสือ La Tentation de l’Occident ซึ่งแฝงข้อคิดเชิงปรัชญาเอาไว้ทุกบททุกตอนนั้น การจะตีความ ผู้แปลต้องอาศัยข้อคิดของผู้รู้และกัลยาณมิตรหลายท่านมาประกอบกันเป็นความเข้าใจก่อนที่จะถ่ายทอดออกมาได้ เพราะท่านเหล่านั้นไม่ได้รู้จักมาลโรซ์เท่าผู้แปล การตัดสินใจเลือกตีความหรือแปลเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่ที่ตัวผู้แปลเอง ซึ่งศึกษามาลโรซ์และรู้ว่าแนวคิดของเขาเป็นเช่นไร ระหว่างการทำงาน อาจารย์ฮันส์ เดอครอป ภาควิชาปรัชญาและศาสนาซึ่งอยู่ใกล้ตัวที่สุด ช่วยวิเคราะห์และตีความ ส่วนท่าน เขมานันทะหรืออาจารย์โกวิท เอนกชัย ซึ่งเชี่ยวชาญด้านปรัชญา ศิลปะและเรื่องตะวันตก-ตะวันออก ได้อ่านและให้ข้อคิดต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการตีความในภายหลังเมื่องานแปลขั้นตอนแรกสิ้นสุดลง

           เครื่องมือในการทำงานแปลหนังสือเล่มนี้ อย่างแรก ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่ต้องอ่านประกอบ ซึ่งมีหลายเล่มทีเดียว ก่อนอื่นต้องกลับไปอ่านวิทยานิพนธ์ของตัวเอง เมื่อรู้ว่าข้อเขียนเชื่อมโยงกับเรื่องใด ถ้าเรายังไม่รู้หรือรู้ไม่กระจ่างในเรื่องนั้นก็ต้องไปหาอ่านเพิ่ม มิฉะนั้นจะแปลเรื่องที่เขาพูดถึงไม่ถูกแน่ ตัวอย่างเช่น เสน่ห์ตะวันออก พูดถึงปรัชญาตะวันตก-ตะวันออกเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๕

           หลังจากอ็องเดร มาลโรซ์ แล้ว ยังมีผู้สานต่อบทสนทนาตะวันตก-ตะวันออกอีก ไดซากุ อิเคดะ นักคิดชาวญี่ปุ่นเป็นบุคคลที่ได้นำปัญหาใหม่ๆ ในปัจจุบัน มาเปรียบเทียบกับมรดกที่ได้รับจากอดีตและจากปรัชญา อิเคดะดำริที่จะบันทึกบทสนทนากับตัวแทนของความคิดตะวันตก แล้วพิมพ์ออกเป็นหนังสือชุดติดต่อกัน เล่มแรกที่เป็นผลจากการสนทนาชื่อว่า ชีวิตเลือกได้ (Choose life) เป็นบันทึกการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างตัวท่านกับนักประวัติศาสตร์อังกฤษ ชื่อ ทอยน์บี หนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๗๖ จากนั้น อิเคดะก็คิดจะไปพบกับอ็องเดร มาลโรซ์ แต่มาลโรซ์ถึงแก่อนิจกรรมลงเสียก่อน

           ต่อมาอิเคดะได้พบกับ เรอเน อุยก์ ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะ ในปี ค.ศ. ๑๙๗๔ เมื่ออุยก์มาเยือนญี่ปุ่น และอีกครั้งในปี ค.ศ. ๑๙๗๕ ที่เมืองโซ (Sceaux) เมื่ออิเคดะไปฝรั่งเศส บุคคลทั้งสองตกลงกันว่าจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่ได้พูดคุยกันมาให้ละเอียดลึกซึ้งลงไป โดยจะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร จดหมายของทั้งสองท่านนี้ ในฉบับภาษาฝรั่งเศส สำนักพิมพ์ฟลัมมารียงรับพิมพ์ ส่วนฉบับภาษาญี่ปุ่น สำนักพิมพ์โดดันชารับพิมพ์ และมีผู้แปลเป็นภาษาไทยชื่อหนังสือ รัตติกาล เพรียกหาอรุโณทัย นอกจากนี้อีกเล่มหนึ่งที่สำคัญคือ อันเนื่องกับทางไท และ จากหิมาลัยถึงแอลป์ ของท่านเขมานันทะ ที่ผู้แปลได้อ่านเพื่อให้เกิดความเข้าใจในแนวคิดตะวันตกและตะวันออก

เริ่มต้นแปล

เมื่อตัดสินใจแปล La Tentation de l’Occident ผู้แปลเลือกต้นฉบับแปลเล่มที่มีอยู่ซึ่งเป็นเล่มที่เคยศึกษามา จึงไม่ได้มีโอกาสเทียบดูกับหนังสือเล่มอื่นๆ ที่จะใช้เป็นต้นฉบับ ในการศึกษาต้นฉบับวรรณกรรมที่จะแปลนั้น พบว่า การแปลวรรณกรรมต่างจากการแปลงานประเภทอื่นๆ เพราะมีบริบททุกอย่างที่สัมพันธ์กับวรรณกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น ผู้แปลจึงจำเป็นต้องรู้จักงานวรรณกรรมเล่มที่จะแปล และภาวะแวดล้อมทั้งหมดซึ่งได้แก่ ตัวนักประพันธ์ (ชีวิตและผลงานเล่มอื่นๆ) แนวคิด และวิธีที่ใช้กับงานประพันธ์แต่ละเรื่อง เช่น รู้ว่า เสน่ห์ตะวันออก เป็นความเรียงรูปจดหมาย รู้ว่าผู้ประพันธ์มีจุดมุ่งหมายอะไรในการเขียน มีบุคลิกลักษณะและความสนใจในเรื่องใด มีเจตนาที่จะบอกอะไร เพราะเหตุใด เป็นต้น
           นอกเหนือจากบริบทภายนอกแล้ว ผู้แปลต้องศึกษาบริบทภายในคือ วรรณกรรมฉบับที่จะแปลอย่างละเอียด การอ่าน La Tentation de L’Occident เพื่อทำวิทยานิพนธ์ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการอ่านเพื่อแปล การอ่านละเอียด อ่านหลายรอบ อ่านแล้วอ่านอีก อ่านจนรู้สึกทะลุปรุโปร่งเมื่อไร แล้วจึงค่อยลงมือแปล เท่ากับงานนั้นเสร็จไปแล้วกว่าครึ่ง เพราะผู้แปลจะมีความมั่นใจว่าสามารถตีความได้ถูกต้อง เก็บความได้ทุกบททุกตอน เข้าใจความหมายทุกประเภท รวมทั้งนัยยะต่าง ๆ และวิถีทัศน์ของผู้ประพันธ์
           แม้ผู้แปลจะรู้จักมาลโรซ์เพราะร่ำเรียนมาก็ตาม แต่เมื่อเริ่มต้นงานแปลก็จำเป็นจะต้องรื้อฟื้น ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน ความเรียงและบทความที่เกี่ยวข้องกับตะวันตก-ตะวันออก ที่มาลโรซ์เขียนไว้ทั้งหมด เพื่อจะได้เข้าใจวิธีคิดและวิธีเขียนของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิความรู้ที่เขาได้แสดงทัศนะเอาไว้ในหลายเรื่องนั้น ต้องใช้เวลาอ่านเพิ่มเติมควบคู่กันไปกับการทำงานแปล
           ข้อมูลที่ได้มานี้ทำให้เข้าใจและเดินตามรอยแนวคิดของเขาได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้แปลได้ดี ถูกต้อง หรือไพเราะ เพราะการแปลคือการถ่ายทอดเนื้อความของข้อเขียน ความคิดและวรรณศิลป์ของผู้เขียนจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง โดยต้องถ่ายทอดให้ครบคำ ครบความ ดังนั้น จึงเท่ากับต้องจับกลวิธีและลีลาการเขียนของมาลโรซ์จากต้นฉบับให้ได้เป็นอย่างแรก ระหว่างแปล

“การแปลวรรณกรรมต่างจากการแปลงานประเภทอื่นๆ เพราะมีบริบททุกอย่างที่สัมพันธ์กับวรรณกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น ผู้แปลจึงจำเป็นต้องรู้จักงานวรรณกรรมเล่มที่จะแปล และภาวะแวดล้อมทั้งหมดซึ่งได้แก่ ตัวนักประพันธ์ (ชีวิตและผลงานเล่มอื่นๆ) แนวคิด และวิธีที่ใช้กับงานประพันธ์แต่ละเรื่อง”

          รูปแบบการเขียน เสน่ห์ตะวันออก เป็นความเรียงรูปจดหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาจดหมายแต่ประการใด จดหมายเป็นเพียงรูปแบบที่ใช้ถ่ายทอดความคิดแต่ละเรื่องๆ ของผู้ประพันธ์เท่านั้น แม้จะมีตัวละครที่เขียนจดหมายกัน ๒ คน แต่จดหมายเหล่านั้นก็ไม่ได้สัมพันธ์กันทุกฉบับ เป็นการสื่อแสดงความคิดในเรื่องที่ผู้ประพันธ์เห็นเป็นประเด็นสำคัญในการพูดถึงตะวันตก–ตะวันออก เป็นลีลาที่ตรงไปตรงมาและเอาจริงเอาจัง เมื่อลบรูปแบบจดหมายออกไป ความเรียงเรื่องตะวันตก-ตะวันออกจะปรากฏเด่นชัดขึ้นมา ภาษาของผู้ประพันธ์เป็นภาษาความเรียง-ภาษาเขียนโดยแท้ ผู้แปลรู้สึกได้ถึงน้ำเสียงที่แสดงภูมิปัญญา โลกทัศน์ของผู้ประพันธ์
เมื่อพิจารณาโครงสร้างประโยค จะเห็นว่าผู้ประพันธ์ใช้ประโยคซับซ้อนซ่อนนัยยะสำคัญ ซึ่งโยงใยความคิดหนึ่งสู่อีกความคิดหนึ่งเสมอ ผู้ประพันธ์มีวิธีชี้นำให้ ผู้อ่านคิดเปรียบเทียบความแตกต่างของอารยธรรมตะวันตก-ตะวันออกตามไปกับตัวอักษร

          ในตอนแรกที่เริ่มแปล ผู้แปลกังวลมากเรื่องการถ่ายทอดความซับซ้อนของผู้ประพันธ์ ความซับซ้อนจะคลี่คลายได้ถ้าใช้การถ่ายทอดแบบอธิบายความ ผู้แปลมุ่งทำให้ เสน่ห์ตะวันออก เป็นเรื่องที่อ่านง่าย ทุกคนอ่านแล้วสามารถเข้าใจความคิดของผู้ประพันธ์ได้ทันที แต่การกระทำเช่นนั้นไม่ใช่การแปลวรรณกรรม

           ถ้าผู้แปลพยายามทำให้เกิดความชัดเจน ผู้แปลจะไม่สามารถคงความ หรือรักษาความเป็นต้นฉบับเอาไว้ได้เลย ผู้อ่านเองก็จะไม่ได้รับรสความไพเราะงดงามของภาษาที่ผู้ประพันธ์ใช้ ดังนั้น วิธีการนี้จึงไม่อาจเรียกว่าเป็นการแปล เพราะไม่ได้ทำให้ผู้อ่านเห็นระดับการสร้างสรรค์ของผู้ประพันธ์ แต่จะกลายเป็นว่าผู้ที่ทำงานแปล (ซึ่งไม่ใช่ผู้แปลอีกต่อไปแล้ว) ผลิตงานอะไรออกมาชิ้นหนึ่งที่ไม่ได้มีความเที่ยงตรง ผู้แปลจึงต้องกลับไปทำงานแปลอย่างคงความ คงคำให้ได้ โดยพยายามรักษาคำและความเอาไว้ คือดูความถูกต้องของเนื้อความในต้นฉบับ และรูปแบบท่วงทำนองการเขียนของภาษาต้นฉบับด้วย ซึ่งวิธีนี้ยากกว่าวิธีแปลแบบเอาความ ซึ่งเน้นการเก็บใจความหลักของต้นฉบับเอาไว้ โดยใช้การตัดหรือต่อเติมข้อความเพื่อช่วยเสริมความเข้าใจของผู้อ่าน

          หากบรรณาธิการสำนักพิมพ์พิถีพิถัน และต้องการจะแปลเอาทั้งคำและความ วิธีแปลแบบเอาความก็ไม่สามารถใช้ได้ เสน่ห์ตะวันออก ไม่ได้ใช้วิธีนี้เพราะเกรงว่าจะเป็นการทำลายต้นฉบับ ผู้แปลจึงคงลำดับความและรูปแบบของต้นฉบับ ไม่ได้ตัดและไม่ได้เติมข้อความเอาเองโดยไม่จำเป็น เพราะเสี่ยงต่อการทำงานแปลให้เป็นงานแปร

          ขณะที่แปลงานชิ้นนี้ พบว่ามีความไม่เข้าใจต้นฉบับที่เกิดจากหลายอย่างด้วยกัน เช่น ไม่เข้าใจคำศัพท์และสำนวน ไม่เข้าใจไวยากรณ์และโครงสร้างซับซ้อนในประโยค ระหว่างประโยคต้องใช้การเชื่อมโยงความคิด อีกทั้งยังขาดความรู้รอบตัวและภูมิหลังในเรื่องที่อ่านบางประเด็น

“ผู้แปลจึงคงลำดับความและรูปแบบของต้นฉบับ ไม่ได้ตัดและไม่ได้เติมข้อความเอาเองโดยไม่จำเป็น เพราะเสี่ยงต่อการทำงานแปลให้เป็นงานแปร”

           เนื่องจาก La Tentation de l’Occident เขียนและพิมพ์เมื่อประมาณ ๗๐ กว่าปีมาแล้ว เหตุการณ์และสถานการณ์ที่อ้างถึงในเรื่องก็ประมาณ ๑๐๐ ปีก่อน ดังนั้น ในการแปลจึงมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษคือเรื่องการใช้ถ้อยคำให้สอดคล้องกับยุคสมัยนั้น ทุกคำ ทุกวลี ทุกประโยคจะให้ศัพท์บัญญัติใหม่ที่มีอายุเพียง ๑-๔๐ ปี เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้ เช่น วิสัยทัศน์ ให้ความ ให้การ ภาพลักษณ์ เพราะจะทำให้ขัดแย้งกันไปหมดในเรื่องความกลมกลืนของภาษา ผู้แปลค้นหาหนังสือภาษาไทยที่เขียนขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๔๖๔-๒๔๖๘ มาอ่าน ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่มาลโรซ์เขียน La Tentation de l’Occident (ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๕) เช่น โคลนติดล้อ พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ รวมทั้งหนังสือร่วมสมัยเล่มอื่นๆ จนเกิดซึมซาบในภาษาและถ้อยคำที่ใช้พอสมควร

           บรรณาธิการหนังสือแปลเล่มนี้ได้แนะนำให้ตรวจทานถ้อยคำกับพจนานุกรมภาษาเก่า ให้ตรงกับปีที่ผู้เขียนใช้ภาษานั้นเขียนด้วย ในที่นี้ ผู้แปลได้รวบรวมตัวอย่างการใช้ภาษาเก่าและภาษาใหม่มาให้ดูพอเป็นสังเขป

ต้นฉบับ สำนวนดั้งเดิม สำนวนสมัยใหม่
L’âme de l’Europe p. 20 จิตใจและวิญญาณ จิตวิญญาณ
L’individu p. 25 คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะบุคคลใด โดยเฉพาะปัจเจกชน
Comme leur image p. 25 ดุจเดียวกับภาพจำลอง ดุจเดียวกับภาพลักษณ์
L’infinie diversité du monde ความแตกต่างอันมิรู้สิ้นสุดแห่งพิภพ ความหลากหลายอันมิรู้สิ้นสุดแห่งพิภพ
Ils ont inventé le diable ; j’en rends grâce à leur imagination. p. 31 พวกเขา (ชาวยุโรป) สร้างปีศาจขึ้นมาด้วยความคิดฝันของตน (การคิดฝัน / การคิดคำนึง)พวกเขา (ชาวยุโรป) สร้างปีศาจขึ้นมาด้วยจินตนาการของตน
La vie est une suite de possibilités (..) p. 32 ชีวิตเป็นการสืบเนื่องของสิ่งอันพึงเป็น ชีวิตเป็นการสืบเนื่องของความเป็นไปได้
reprendre la direction p. 35 กลับมากินตำแหน่ง กลับมาบริหาร
la mort est le symbole p. 34 ความตายถือเป็นเครื่องหมาย ความตายถือเป็นสัญลักษณ์
qu’importe Saint-Hélène et que Julien Sorel meure sur l’échafaud ! p. 70 ไม่ว่า ฌูเลียง ซอแรล จะจบชีวิตบนตะแลงแกงก็ตามจะสำคัญอะไรกันเล่า ! ไม่ว่า ฌูเลียง ซอแรล จะจบชีวิตบนตะแลงแกงก็ตาม จะสำคัญอะไรกันนักเชียว !
La dernière vision p. 129 การมองลำดับสุดท้าย วิสัยทัศน์สุดท้าย
Ils visitent les monts-de- piété. p.14 พวกเขาไปเยือนโรงรับจำนำ พวกเขาไปเยือนสถานธนานุบาล

“บรรณาธิการหนังสือแปลเล่มนี้ได้แนะนำให้ตรวจทานถ้อยคำกับพจนานุกรมภาษาเก่า ให้ตรงกับปีที่ผู้เขียนใช้ภาษานั้นเขียนด้วย”

           ตอนแรก ผู้แปลเข้าใจว่าเรื่องราวของ เสน่ห์ตะวันออก มีลักษณะเป็นปรัชญาความคิด คำบางคำในภาษาบาลีสันสกฤตน่าจะใช้ถ่ายทอดได้เหมาะสม แต่มาคิดในภายหลังว่า หน้าที่อย่างหนึ่งของผู้แปลคือถ่ายทอดความหมายของต้นฉบับให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายที่สุด จึงล้มเลิกความคิดที่จะแสดงภูมิปัญญาของผู้แปลด้วยการใช้ศัพท์ภาษาบาลีสันสกฤต เช่น sensibilité อินทรีย์สัมผัส ก็เป็นสัมผัสทางกาย หรือ fontaine อุทกธาร ก็เป็นธารน้ำธรรมดาๆ หรือ signes de nos sentiments ซึ่งหมายถึงสัญญาที่สัมผัสได้ด้วยอายตนะ เป็นความคิดรวบยอดหรือภาพที่เกิดขึ้นในจิต รู้ได้ด้วยใจ ซึ่งทางบาลีเป็นการหมายรู้ ผู้แปลเกรงว่าใช้ภาษาบาลี อายตนะ หรือสัญญา ก็จะยิ่งสื่อความได้ยากเข้าไปใหญ่ จึงใช้คำว่าสัญญะแห่งความรู้สึกแทน ซึ่งสื่อความได้ตรงไปตรงมา

          สำนักพิมพ์ผีเสื้อเน้นเรื่องการสร้างความสำนึกในความสำคัญของภาษาให้แก่ผู้อ่านด้วย ในการแปล เสน่ห์ตะวันออก ผู้แปลจงใจใช้ภาษาไทยตามยุคสมัย รวมทั้งการเรียกชื่อและการสะกดด้วย เช่นใช้ อาเซีย แทน เอเชีย เสปญ แทน สเปน หรือนำตัว ฅ กลับมาใช้

          ส่วนคำที่ทับศัพท์นั้นจะเขียนตามเสียงอ่านและใส่วรรณยุกต์กำกับด้วย ในเรื่องนี้คงจะมีความเห็นต่างกันไป นักวิชาการบางท่านบอกว่าไม่ควรใส่วรรณยุกต์ เพราะเป็นคำที่ถอดมาจากภาษาต่างประเทศ อย่างไรก็ตามใน เสน่ห์ตะวันออก ใช้คำทับศัพท์โดยใส่วรรณยุกต์กำกับ เพราะคำที่ทับศัพท์ภาษาต่างประเทศอาจก่อให้เกิดปัญหาในการออกเสียง และถ้าทับศัพท์แล้วจะออกเสียงอย่างไรก็ต้องตรวจสอบจากเจ้าของภาษา หรือจากพจนานุกรมที่ช่วยในการออกเสียง เช่น ต้น peuplier คิดในตอนแรกว่าจะหาทางเทียบกับพันธุ์ไม้ไทย แต่ในที่สุด ก็ตัดสินใจใช้ทับศัพท์คำในภาษาอังกฤษซึ่งมีคนรู้จักมากกว่าว่า พ็อพล่า (poplar) เพราะคิดขึ้นมาได้ว่าพันธุ์ไม้ที่มีในบ้านเมืองเขาต่างจากบ้านเมืองเรา

หลังแปล

หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ ๙ เดือน งานแปลก็เสร็จสิ้น โดยทั่วไป ผู้แปลควรทิ้งงานแปลไว้สักระยะหนึ่งแล้วจึงค่อยกลับมาอ่านทบทวน การอ่านทบทวนนี้คงต้องกระทำใน ๒ ระดับ คือ

  • ดูความถูกต้อง (ถูก-ผิด) อ่านทบทวน เทียบเคียงการแปลกับต้นฉบับ ตรวจสอบการใช้คำและรูปประโยค
  • ดูความไพเราะ (สละสลวย-ไม่สละสลวย) เกลาสำนวนภาษา

ผู้แปลจะเป็นผู้ตรวจสอบและแก้ไขด้วยตนเองก่อนที่ส่งให้บรรณาธิการต้นฉบับแปลตรวจสอบ

 

ผู้แปลตรวจสอบ

ขั้นตอนนี้ คือขั้นตอนที่ผู้แปลจะพิจารณาทบทวนดูว่าเนื้อความที่แปลไว้สื่อความตรงตามต้นฉบับหรือไม่ มีข้อความที่ชวนสงสัยในความเป็นไปได้ ถูกผิด มีข้อความคลุมเครือ หรือกำกวม หรือข้อความที่ไม่สื่อนัยยะเช่นเดียวกับข้อความในต้นฉบับแปลหรือไม่
          ผู้แปลควรอ่านทบทวน พิจารณาคำและรูปประโยคโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการแปลครั้งแรก เพื่อตรวจสอบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ หรืออาจต้องแปลใหม่ก็ได้กรณีที่พบข้อบกพร่อง
          เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจสอบความแม่นยำ เที่ยงตรงไปแล้ว ก็มาถึงการ “ขัดสีฉวีวรรณ” งานแปล เป็นการทดสอบความสละสลวยด้วยสายตาและหูฟัง ด้วยสายตา คือ บางครั้งผู้แปลสามารถหา “ถ้อยคำนำมาร้อย” ได้งดงาม คำนึงถึงการสัมผัสอักษรหรือการเล่นตัวอักษร ด้วยหูฟัง คือ ผู้แปลควรได้ยินงานแปลของตัวเองที่อ่านด้วยตัวเอง เพื่อตรวจสอบความลื่นไหลอันเกิดจากตรรกะในการใช้ภาษาของผู้แปล
          หลักปฏิบัติในการปรับงานแปลนั้นอาจจะขอให้ผู้อื่นเข้ามาช่วยปรับ แก้ไข หรือปรับด้วยตนเองก็ได้ เนื่องจากขณะที่ทำงานแปล ผู้แปลร่วมงานกับอาจารย์ ฮันส์ เดอครอป ซึ่งมีความรู้ทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาที่ใช้แปล พอตรวจทานได้ว่าถูกต้องและสื่อความหมายชัดเจน ก็เท่ากับว่าได้ปรับขณะทำไปพร้อมๆ กัน ขั้นต่อมาคือปรับภาษาให้สละสลวย ซึ่งได้รับความกรุณาจากอาจารย์หลายท่าน รวมทั้งอาจารย์โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ) ช่วยตรวจและปรับภาษาในบทแปลชั้นแรก ก่อนมาถึงมือบรรณาธิการตัวจริงแห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

บรรณาธิการตรวจสอบ

บรรณาธิการหนังสือแปลไม่น่าจะมีบทบาทแตกต่างไปจากครูสอนแปลเท่าใดนัก การตรวจงานแปลไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่กำลังจะตีพิมพ์และอยู่ในขั้นตอนของการตรวจแก้ หรืองานของนักศึกษาที่ทำส่ง ผู้ตรวจต้องอาศัยความละเอียดลออเป็นพิเศษ ในการขัดเกลาผลงานแปลให้มีคุณภาพ บรรณาธิการต้องมีเกณฑ์เดียวกับครูสอนแปล คือ ดูว่าความหมายถูกต้อง ครบถ้วนตามต้นฉบับ อีกอย่างที่บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อเน้นมาก คือรูปแบบของภาษาที่ใช้ในภาษาแปลว่าตรงกันกับต้นฉบับหรือไม่ สำนวนภาษาแปลสละสลวยถูกต้องตามระดับภาษาที่ใช้ในต้นฉบับหรือไม่ และประการสุดท้ายคือการใช้ตัวสะกดการันต์ บุรพบท ตรงตามหลักภาษาไทยหรือไม่
          บรรณาธิการไม่เห็นด้วยกับการแปลโดยตีความหรือถอดความ เพราะเกรงว่าจะมีขัอขัดแย้งมากและเสี่ยงต่อการแปลผิดได้ง่าย จึงขอให้ผู้แปลพยายามถอดความภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย โดยคงลีลา น้ำเสียง และการใช้คำ ใช้ประโยคตามต้นฉบับเดิมไว้ให้ครบถ้วนที่สุด การรักษารูปแบบให้คงไว้ บางครั้งทำได้ยาก แต่ถ้าเปลี่ยนรูปประโยคเสียทั้งหมดก็จะทำให้น้ำหนักของประโยคในฉบับแปลไม่เท่ากัน
          การที่บรรณาธิการไม่รู้ภาษาต้นฉบับ ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการตรวจต้นฉบับ ทั้งนี้ถ้าบรรณาธิการยอมรับการทำงานของผู้แปลก่อนหน้าจะมาถึงมือบรรณาธิการ บรรณาธิการสามารถตรวจแก้งานแปลแบบใจว่างเปล่า เข้าใจตามต้นฉบับแปล ไม่สนใจว่าต้นฉบับเดิมว่าอย่างไร และใช้ประสบการณ์ตั้งข้อสงสัยซักถามผู้แปล และพิจารณารูปประโยคมิให้ติดกับโครงสร้างภาษาเดิม

           ยิ่งบรรณาธิการแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม แสดงความสงสัยที่มีต่อตัวบทแปลมากเท่าไร งานแปลจะมีข้อบกพร่องน้อยที่สุดเท่านั้น บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อจะตรวจทาน ให้คำเสนอแนะทุกจุดที่ต้องปรับปรุง แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้แปล ให้คำอธิบายและส่งให้ผู้แปลพิจารณาใหม่ เมื่อผู้แปลปรับแก้แล้วจึงส่งกลับมายังบรรณาธิการ ก่อนส่งโรงพิมพ์ ผู้แปลจะต้องละเอียดถี่ถ้วนมาก ตราบใดที่ต้นฉบับยังไม่เข้าไปถึงมือโรงพิมพ์ ก็สามารถขอแก้ไขให้สมบูรณ์ที่สุดได้ตลอดเวลา

          การทำงานกับอาจารย์ มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการผีเสื้อท่านนี้ ผู้แปลรู้สึกเหมือนได้เข้าเรียนวิชาแปล โดยฝึกทำของจริงเลย และบรรณาธิการเป็นเสมือนครูผู้สอนแปลคนแรกของผู้แปล

“บรรณาธิการต้องมีเกณฑ์เดียวกับครูสอนแปล คือ ดูว่าความหมายถูกต้อง ครบถ้วนตามต้นฉบับ อีกอย่างที่บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อเน้นมาก คือรูปแบบของภาษาที่ใช้ในภาษาแปลว่าตรงกันกับต้นฉบับหรือไม่ สำนวนภาษาแปลสละสลวยถูกต้องตามระดับภาษาที่ใช้ในต้นฉบับหรือไม่ และประการสุดท้ายคือการใช้ตัวสะกดการันต์ บุรพบท ตรงตามหลักภาษาไทยหรือไม่”

การทำเชิงอรรถ

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ผู้แปลตัดสินใจแปล La Tentation de l’Occident เพราะชื่นชมตัวผู้ประพันธ์ และเห็นว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มีสารน่าสนใจ ผู้อ่านจะรู้จักวิธีคิด วิธีมองปัญหา และความเป็นตะวันตก-ตะวันออก การอ่านวรรณกรรมช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้อ่านสู่วัฒนธรรมทางความคิดที่ต่างออกไป หนังสือเล่มนี้อ้างอิงชื่อบุคคลสำคัญ สถานที่ หลักปรัชญา เทพปกรณัม งานศิลปะ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ตลอดเรื่อง ผู้แปลคิดว่าตัวเองในฐานะผู้แปลยังต้องการความรู้เพิ่มเติมในเรื่องเหล่านี้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาวิธีขยายความรู้ให้ผู้อ่านเกิดความกระจ่างเข้าใจด้วยเช่นกัน วิธีที่ใช้ คือการแปลขยายความสั้นๆ หรือการทำเชิงอรรถ  
           ผู้แปลไม่รู้สึกว่าตัวเลขกำกับเชิงอรรถรกตา หรือเชิงอรรถเป็นอุปสรรคในการอ่านต่อเนื่องแต่ประการใด ดังที่ทราบแล้วว่า เสน่ห์ตะวันออก เป็นความเรียงรูปจดหมายเขียนขึ้นทั้งหมด ๑๘ ฉบับ ในจำนวนนั้นมี ๓ ฉบับที่ลีลาการเขียนต่างออกไปจากฉบับอื่นๆ คือฉบับแรกที่ เอ.ดี. เขียนในเรือเดินสมุทรขณะเดินทางมาจีน มีลักษณะเป็นบันทึก ใช้ภาษาเชิงพรรณนาสละสลวย เป็นบทที่แปลค่อนข้างยาก เพราะใช้วิธีการเขียนหลายอย่างประกอบกัน ตั้งแต่สัญลักษณ์ ความเปรียบ กระแสจิตสำนึก ความคิดแบบนามธรรมกับรูปธรรม การสร้างภาพ และการดำเนินเรื่องด้วยมุมมองแบบมุมกล้องภาพยนตร์  
           บันทึกฉบับนี้สำคัญมากเพราะเป็นการนำเข้าสู่เนื้อเรื่องในจดหมายฉบับต่อๆ มา จำนวนหน้าที่แปลออกมาเท่ากับ ๕ หน้า ประกอบไปด้วยเชิงอรรถถึง ๑๗ แห่ง ซึ่งผู้แปลค้นคว้าข้อมูลประกอบในการทำ “อธิบายคำ-อธิบายความ” ไว้ท้ายเล่ม เพื่อช่วยคลี่คลายความซับซ้อนทางความคิดของผู้เขียน และเพิ่มความเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลปะ ศาสนาและปรัชญาที่เกี่ยวข้อง  
            ในฉบับที่ ๑๖ และ ๑๗ เป็นจดหมายที่สัมพันธ์กัน ผู้เขียนสะท้อนสภาพสังคมและความคิดของคนจีนในภาวะวิกฤตผ่านทางตัวละครชาวจีนชื่อ หวาง-โหลว ด้วยน้ำเสียงจริงจัง ขณะนั้นจีนเผชิญกับการรุกรานและการแสวงหาผลประโยชน์ของมหาอำนาจตะวันตก ดังนั้นความรู้รอบตัวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๑๑-๑๙๑๙ จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะหลังจากที่อิทธิพลต่างๆ จากตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่จีน ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ในเวลานั้นมีทั้งชาวจีนที่ยึดมั่นในความคิดอนุรักษ์นิยมตามหลักลัทธิขงจื๊อ ทั้งพวกหัวสมัยใหม่ที่ยอมรับความเจริญและเทคโนโลยีมากขึ้น จนเกิดเหตุการณ์ “ขบวนการ ๔ พฤษภาคม” ในปี ค.ศ. ๑๙๑๙ ซึ่งถือว่าเป็นเส้นแบ่งเวลาระหว่างวัฒนธรรมจีนเก่ากับจีนใหม่

“การอ่านวรรณกรรมช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้อ่านสู่วัฒนธรรมทางความคิดที่ต่างออกไป หนังสือเล่มนี้อ้างอิงชื่อบุคคลสำคัญ สถานที่ หลักปรัชญา เทพปกรณัม งานศิลปะ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ตลอดเรื่อง … จึงจำเป็นต้องหาวิธีขยายความรู้ให้ผู้อ่านเกิดความกระจ่างเข้าใจด้วยเช่นกัน วิธีที่ใช้ คือการแปลขยายความสั้นๆ หรือการทำเชิงอรรถ”

          ส่วนฉบับอื่นๆ เป็นจดหมายแสดงความคิดเห็นเชิงปรัชญาในประเด็นต่างๆ เช่น ศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต การดำรงชีวิตที่ใช้พลังกระทำแบบตะวันตก และการดำรงอยู่ในสภาวะแบบตะวันออก และเช่นเดียวกันกับจดหมายฉบับที่ ๑๖-๑๗ คือ ผู้แปลต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่มาลโรซ์พูดถึงจากแหล่งข้อมูลต่างๆ พอมีความรู้แล้ว ก็ทำให้เข้าใจเรื่อง สามารถคลำทางง่ายขึ้น บางท่านอาจเห็นว่าการแปลวรรณกรรมไม่จำเป็นต้องทำเชิงอรรถให้วุ่นวายเลย เรื่องนี้มีหลักพิจารณาอยู่ที่เรื่องแปล หากมีความซับซ้อนเช่น เสน่ห์ตะวันออก คำอธิบายคำ-อธิบายความ กลายเป็นตัวช่วยให้เกิดความกระจ่างและช่วยรักษาบริบททางวัฒนธรรมไว้ ผู้แปลจะทำงานแปลให้ดีได้อย่างไร หากไม่เข้าใจเรื่องราวที่กล่าวอ้างในงานแปล
            อนึ่ง เมื่อพิมพ์ เสน่ห์ตะวันออก ออกมาแล้วมีความยาว ๑๗๐ กว่าหน้า บรรณาธิการเห็นว่าบางมาก จึงให้ตรวจแก้ไขบทความที่พิมพ์ในหนังสือ รำลึกถึงมาลโรซ์ เพื่อนำมาลงพิมพ์เพิ่มเติม หนังสือเล่มนี้จึงสมบูรณ์ด้วยส่วนขยาย ทั้งที่เป็นเชิงอรรถ และบทความ “ตะวันตก-ตะวันออก” คอลัมน์วิจารณ์หนังสือใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ เสน่ห์ตะวันออก และการทำงานของผู้แปลไว้หนึ่งหน้าครึ่ง (ดูหน้า ๑๑-๑๒)

เมื่อ เสน่ห์ตะวันออก วางตลาด

หนังสือตกแต่งบ้าน Life and Décor ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๔๐ เขียนบอกไว้ใน “รสนิยมฉบับหน้าเดือนกรกฎาคม ๔๐” โดยใช้ชื่อหนังสือ เสน่ห์ตะวันออก เป็นแนวทำหนังสือ และนำข้อความหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการนำเสนอศิลปะตกแต่งบ้าน ที่ผสมผสานรูปแบบระหว่างตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน นับว่าเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจที่เห็นว่ามีผู้นำชื่อหนังสือ และการขยายความบางจุดของหนังสือเล่มนี้ไปใช้ต่อในเชิงพาณิชย์ (ดูหน้า ๑๓-๑๔)

“สำหรับ ‘ผู้อยากแปล’ งานวรรณกรรม ซึ่งไม่ได้มี ‘พรสวรรค์’ ในการแปลติดตัวมา การทำงานแปลคงต้องอาศัย ‘พรแสวง’ อีกหลายประการ คือความรักทำงานแปล ความใฝ่รู้ ชอบค้นคว้า พร้อมเปิดใจรับฟังความคิดและประสบการณ์ของผู้รู้อื่นๆ มาประกอบกัน”

ปัจฉิมบท

ขณะกลับมาอ่านทบทวนผลงานของผู้แปลเพื่อเตรียมตัวมาพูด ก็ได้คิดใหม่ เห็นใหม่ อยากปรับเปลี่ยนในหลายจุด และเข้าใจว่าสำนวนแปลที่แปลไปใน เสน่ห์ตะวันออก เมื่อ ๔ ปีที่แล้วเป็นสำนวนแปลที่ดีที่สุดสำหรับในเวลานั้นเท่านั้น การให้คำแปลที่สมบูรณ์เป็นสิ่งกระทำได้ยาก เราอาจพบว่ามีคำแปลที่ดีกว่านี้อีกในภายหลังก็ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับ “ผู้อยากแปล” งานวรรณกรรม ซึ่งไม่ได้มี “พรสวรรค์” ในการแปลติดตัวมา การทำงานแปลคงต้องอาศัย “พรแสวง” อีกหลายประการ คือความรักทำงานแปล ความใฝ่รู้ ชอบค้นคว้า พร้อมเปิดใจรับฟังความคิดและประสบการณ์ของผู้รู้อื่นๆ มาประกอบกัน

ตัวอย่างการแปล เสน่ห์ตะวันออก และคำอธิบาย

ลีลาการเขียน เสน่ห์ตะวันออก ของอ็องเดร มาลโรซ์ หนักแน่น ตรงไปตรงมา เป็นลีลาของนักปราชญ์ผู้ทรงภูมิปัญญา ซึ่งเสนอข้อคิดเห็นและวิพากษ์ความเป็นอารยธรรมตะวันตกและตะวันออก ด้วยทัศนะกว้างไกลยิ่งสำหรับยุคสมัยของผู้ประพันธ์  
           ดังนั้น เมื่อรู้จักลีลาการเขียน โลกทัศน์ และจุดมุ่งหมายในการเขียนของผู้ประพันธ์แล้ว การถ่ายทอดข้อเขียนนั้นออกมาสู่อีกภาษาหนึ่งจึงก้าวข้ามขอบเขตของการรู้จักภาษาต้นฉบับงานแปล สู่การรู้จักภาษาที่จะแปลและความสามารถในการใช้ภาษาแปลให้สื่อลีลาของผู้ประพันธ์ออกมาให้ได้
           ลีลาของมาลโรซ์ ใน เสน่ห์ตะวันออก หลีกเลี่ยงโครงสร้างภาษาต่างประเทศไม่พ้น จึงไม่ง่ายเลยในการหาภาษาที่เทียบเคียงกันให้ได้ความหมายตรงที่สุด มีน้ำเสียงเดียวกันที่สุด อีกประการหนึ่ง ผู้แปลต้องมีสามัญสำนึกที่หยิบออกมาใช้ได้ทุกเมื่อ ชั่งน้ำหนักได้เที่ยงตรงที่สุดใกล้เคียงที่สุด หากคำที่ผู้ประพันธ์ใช้เป็นคำที่มีนัยยะ เป็นคำยาก หรือ คำง่ายก็ตาม คำที่ผู้แปลใช้ถ่ายทอดก็ควรเป็นคำที่มีน้ำหนักที่เท่าเทียมกัน
 
           ข้อสังเกตอื่นๆ ต่อมาคือ โครงสร้างประโยคในภาษาฝรั่งเศสและภาษาไทยต่างกัน ภาษาฝรั่งเศสแบ่งประโยคด้วยเครื่องหมายวรรคตอน แต่ภาษาไทยใช้การเว้นวรรค การแปลประโยคในภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทยจึงไม่อาจแปลประโยคต่อประโยคได้ ถ้าเป็นประโยคซับซ้อนมากๆ ผู้แปลควรใช้วิธีจับใจความ แปลเนื้อความให้ครบและยึดรูปประโยคในภาษาไทยเป็นหลัก  
           ประโยคที่แสดงความรู้สึกของผู้ประพันธ์ มักเป็นประโยคที่ใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ ผู้แปลจะตัดสินได้ว่าผู้ประพันธ์เลือกอยู่ข้างความคิดใด ประโยคพวกนี้มักแสดงน้ำเสียงประชดประชัน เปรียบเปรยอารยธรรมตะวันตกเพื่อให้ตะวันตกรู้สึกตัวและเห็นข้อควรพิจารณาเสียใหม่ในอารยธรรมของตน ผู้แปลจึงควรจับน้ำเสียงเหล่านี้ให้ได้ และถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำเสียงแบบเดียวกัน โดยคำนึงถึงโครงสร้างภาษาไทย คือ นึกว่าในประโยคแบบนี้ ถ้าเป็นภาษาไทยจะพูดอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ผู้แปลจะขอยกตัวอย่างงานที่ได้แปลมาให้ดูพร้อมกับให้คำอธิบายประกอบไปด้วย ดังนี้

การแปลคำที่มีหลายความหมาย

ตัวอย่าง

           L’un de ces mouvements tend à une justification, l’autre à l’inutilité absolue de cette justification. Ils se disjoignent de plus en plus, et nous percevons cette disjonction. (p. ๑๕๗)

           หนึ่งในบรรดาความเคลื่อนไหวเหล่านี้โอนเอียงสู่เรื่องการหาเหตุผล ส่วนอีกกระแสหนึ่งมุ่งไปสู่ความเปล่าประโยชน์โดยสิ้นเชิงในการหาเหตุผล การหาเหตุผลและความเปล่าประโยชน์ในการหาเหตุผลแยกห่างกันมากขึ้นทุกที และเราก็สังเกตเห็นความแตกแยกนี้ได้ด้วยเช่นกัน (หน้า ๑๗๓)

 

คำอธิบาย

        ๑. จะแปล une justification ว่าอย่างไรดี une justification ในความหมายตรงนี้หมายถึง การใช้เหตุผล ความมีเหตุผล หรือการหาเหตุผลกันแน่ มาคิดใหม่ว่า justification ถ้าแปลว่าเป็นการใช้เหตุผล การใช้เหตุผลก็ไม่น่าจะเปล่าประโยชน์ แต่ถ้า une justification เป็นการหาเหตุผล บางทีการหาเหตุผลก็ไม่จำเป็นต้องมี ถ้าหาเหตุผลให้กับสิ่งที่ใช้เหตุผลเป็นคำตอบไม่ได้ จึงคิดว่า justification น่าจะแปลว่าการหาเหตุผลมากกว่า ผู้แปลอาจเรียกใช้สามัญสำนึกมาเป็นตัวช่วยในการตัดสิน

        ๒. สรรพนาม Ils ไม่อาจใช้การแปลสรรพนามตรงๆ ได้ จึงใช้การย้ำคำนามให้ชัดลงไป เพื่อเนื้อความจะได้กระจ่างขึ้น

ตัวอย่าง

       L’Europe appelle peu de beaux fantômes, et je suis venu à elle avec une curiosité hostile. Les illusions qu’elle a créées en nous, Chinois sont trop peu précises pour que nous puissions trouver enseignement ou plaisir à leur modification. (p. ๑๙)

        ยุโรปทำใหันึกถึงความทรงจำอันงดงามที่มีอยู่น้อยนิด และข้าพเจ้าก็ได้เดินทางมาเยือนดินแดนแห่งนี้ พร้อมความใคร่รู้ซึ่งหาเป็นมิตรด้วยไม่ ภาพลวงตาที่ยุโรปสร้างขึ้นในตัวเราชาวจีนก็คลุมเครือเกินกว่าที่เราจะหาความรู้หรือความเพลิดเพลินจากการที่จะไปเปลี่ยนแปลงมัน (หน้า ๓๑)

คำอธิบาย

       ๑. เรารู้ว่า fantôme แปลว่า ผี ปีศาจ แต่อาจไม่รู้ว่าคำๆ นี้มีความหมายอื่นอีก การใช้พจนานุกรมหลายๆ เล่ม และเป็นพจนานุกรมฉบับภาษาฝรั่งเศส จะทำให้ได้คำอธิบายที่มีความหมายกว้างขวางขึ้น เช่น fantôme มีคำอธิบายอีกอย่างหนึ่งคือ souvenir qui hante la mémoire ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อความที่แปล

       ๒. บรรณาธิการของ เสน่ห์ตะวันออก พิถีพิถัน ละเอียด และประณีตมากในการสรรคำ เช่น les illusions ในครั้งแรกผู้แปลใช้คำว่า ภาพมายา แต่ถูกแก้ไขให้เป็นคำสมัยเดียวกับคำอื่นๆ กลายเป็น ภาพลวงตา เป็นต้น

การแปลเรื่องต่างวัฒนธรรม

ตัวอย่าง  
           Chaque printemps couvre les steppes de Mongolie de roses tartares, blanches au cœur pourpre. Des caravanes les traversent ; des marchands sales conduisent de grands chameaux velus porteurs de paquets ronds qui, à l’étape, s’ouvrent comme des grenades. Et toute la féerie du royaume des neiges, pierres couleur de ciel clair ou de rivière gelée, pierres aux reflets de glace et plumes pâles d’oiseaux gris, fourrures de givre et turquoises aux empreintes d’argent s’écroulent sur leurs doigts agiles. (p. ๑๓)  
            ยามวสันตฤดู ทุ่งหญ้ามองโกเลียปกคลุมด้วยกุหลาบพันธุ์พื้นเมืองสีขาว ใจกลางดอกสีแดงก่ำ กองคาราวานย่ำผ่าน พ่อค้าวานิชเนื้อตัวสกปรก ขี่อูฐสูงใหญ่ขนหนา บรรทุกหีบห่อทรงกลม ครั้นยามหยุด พักแรมก็เปิดออก ดั่งหนึ่งผลทับทิมและเรื่องราวอัศจรรย์ทั้งปวงแห่งอาณาจักรหิมะ รัตนชาติสีดุจนภากระจ่าง หรือดั่งธารน้ำแข็ง รัตนชาติอันเปล่งประกายดุจแก้วและขนอ่อนจางของฝูงวิหคสีเทา ขนสัตว์สีขาวดุจหยาดน้ำแข็ง อีกทั้งพลอยเขียวครามหุ้มลายเงินก็ร่วงพรูลงบนฝ่ามือที่สั่นระริกของเหล่าวานิชนั้น (น. ๒๔)  
คำอธิบาย  
           ๑. printemps คือ ฤดูใบไม้ผลิก็จริง แต่เมื่อคิดว่าเนื้อความตรงนี้กำลังพูดถึงทวีปอาเซีย ก็สมควรเทียบฤดูกาลให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง จากฤดูใบไม้ผลิจึงเปลี่ยนมาเป็นวสันตฤดู  
           ๒. roses tartares ดอกกุหลาบที่ขึ้นในดินแดนแถบของพวกตาร์ตาร์ กุหลาบของพวกตาร์ตาร์จึงกลายมาเป็นกุหลาบพันธุ์พื้นเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงการทับศัพท์  
           ๓. ผู้แปลต้องใช้จินตนาการในการอ่าน เพื่อเข้าใจว่าหีบห่อทรงกลมที่บรรทุกมาบนหลังอูฐในกองคาราวานต้องมีข้าวของ ทรัพย์สิน และสินค้ามากมายหลายชนิด หีบห่อนั้นถูกเปรียบไว้ว่าเมื่อเปิดออกจะเหมือนดั่งผลทับทิม ผู้แปลเข้าใจว่าภายในคงเป็นช่องชั้นบรรจุอัญมณีมีราคาสารพัดชนิดแน่นไปหมด ผู้เขียนไม่ได้บอกสีสรรตรงๆ แต่มีกลวิธีการเขียนเป็นความเปรียบทั้งสิ้น ผู้แปลจึงต้องหาถ้อยคำสละสลวยให้เทียบเทียมตัวบทและคงความเปรียบไว้เช่นเดิม  
           ๔. คำที่เป็นปัญหาคือคำว่า sur leur doigts agiles ตามรูปศัพท์ agiles คือความคล่องแคล่ว การแปลครั้งแรกใช้คำว่า “ลงบนฝ่ามือที่คล่องแคล่ว” บรรณาธิการแนะนำให้ ผู้แปลกลับมาคิดใหม่และถอยออกจากตัวบทไปข้างหลังหนึ่งก้าว เหมือนดูภาพเขียน แล้วเห็นและรู้สึกคล้อยตาม นี่เป็นอากัปกิริยาของนิ้วมือที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เวลามองจะรู้สึกเหมือนกับมือสั่นไหวไปมา คำว่า ระริก คืออาการสั่นเร็วๆ

การแปลประโยคที่ซับซ้อน

ตัวอย่าง  
           Ils entrent dans les ports avec le jour. L’eau laiteuse, sans reflets, rend plus clairs les premiers cris des mariniers ; au-dessus de la baie de laque, la ville tout entière, avec sa couronne de murailles aux fleurons de pagodes monte dans le soleil levant ; tout le long de son profil dur apparaissent des aigrettes et des houppes de lumière. (p. ๑๓–๑๔)  
           พวกเขาเข้าถึงท่าพร้อมดวงตะวัน น้ำสีขาวขุ่นประหนึ่งน้ำนม ไร้ประกาย สะท้อนเสียงกู่ร้องคำแรกของบรรดาลูกเรือก้องกังวาน เหนือคุ้งน้ำสียางรัก ตัวเมืองทั้งหมด พร้อมด้วยปราการทรงมงกุฎประดับ ลวดลายคล้ายดั่งสถูปเด่นสง่าอยู่ท่ามกลางอาทิตย์ยามอรุณรุ่ง ประภารัศมีกลมเรืองรองส่องสว่างตัวเมืองด้านข้างโดยตลอด (หน้า ๒๕)  
คำอธิบาย  
           ๑. ตัวอย่างนี้แสดงประโยคที่ซับซ้อน เมื่ออ่านข้อความที่มีหลายประโยคติดต่อกันแล้ว มักเกิดปัญหาเพราะไม่รู้ว่าประโยคที่มาเชื่อมกัน สัมพันธ์กับประโยคอื่นๆ ในข้อความนั้นอย่างไร การแบ่งประโยคโดยใช้เครื่องหมายวรรคตอนแสดงให้เห็นความต่อเนื่อง หรือสิ้นสุดของความคิด แต่ภาษาไทยใช้การเว้นวรรคแทนเครื่องหมายวรรคตอน จึงต้องค่อยๆ อ่านหาประธาน กริยา และบทขยายทีละส่วนมาประกอบกัน อ่านใหม่ซ้ำหลายครั้งจนเห็นภาพ  
           ๒. ประโยคที่สองมีเจตนาจะบรรยาย l’eau (น้ำที่ท่าเรือ) และ la ville (เมืองที่เรือเทียบท่าเตรียมขึ้นฝั่งที่มองไม่เห็นจากในเรือ) น้ำนั้นสีจะดูขุ่นเหมือนน้ำนม ตอนที่เรือเทียบท่า ฟ้าเพิ่งสาง (ดูประโยคแรก) ยังไม่สว่างพอจะเห็นประกายของท้องน้ำได้ แต่น้ำกลับเป็นตัวสะท้อนเสียงกู่ร้องของลูกเรือ กริยา rendre plus clairs ในประโยคนี้ไม่อาจจะแปลตรงๆ ว่า “ทำให้กระจ่างชัดขึ้น” แม้จะรู้ความหมายของคำศัพท์ก็ไม่พอ ต้องเข้าใจประโยคนั้นๆ ว่าหมายความว่าอย่างไร  
           ๓. การบรรยายลักษณะเมือง la ville tout entière คือตัวเมืองทั้งหมด เริ่มด้วยการเห็นกำแพงเมืองหรือปราการที่ปะทะสายตาเป็นอันดับแรก ขอบบนปราการนั้นคงมีลักษณะหยักๆ เพราะถูกเปรียบเหมือนกับมงกุฎ กริยา monter ที่ใช้ ทำให้เห็นว่าเป็นการมองขึ้นไปยังที่สูงกว่า เพราะตัวปราการเด่นสง่าอยู่ในความสว่างของแสงอาทิตย์ คำที่ผู้เขียนใช้บรรยายแสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามาทางด้านข้างของตัวเมือง นอกจากทำให้เห็นว่าลักษณะของแสงที่ส่อง (des houppes de lumière) มีลักษณะกลม เปล่งประกาย ซึ่งผู้แปลเลือกใช้คำว่า “ประภารัศมีกลมเรืองรอง” แล้ว ยังมีลักษณะของการบอกทิศทางด้วย ตำแหน่งของผู้เดินทางซึ่งเป็นคนบรรยาย ควรต้องหันหลังให้แสงอาทิตย์ที่เพิ่งเริ่มขึ้นทางทิศตะวันออก และส่องไปทางด้านข้างของตัวเมือง
ตัวอย่าง  
           Je revenais, avec le triste sourire qu’appellent ces pensées, par les rues étroites où les marchands de pastèques déployaient leurs éventaires, songeant à cette amère vertu de la force qui fait disparaître pour vous l’âme romaine tout entière dans l’éclat de sa puissance d’un siècle (…) (p. ๔๒–๔๓)  
           ข้าพเจ้าเดินกลับพร้อมรอยยิ้มเศร้าๆ อันเกิดแต่ความคิดเหล่านี้ ตามถนนแคบๆ ที่พ่อค้าแตงโมกำลังสาละวนกับการตั้งชั้นวางของขาย ขณะนึกไปถึงคุณธรรมอันขมขื่นของการใช้พละกำลัง ซึ่งสำหรับท่านได้ทำลายจิตใจและวิญญาณของโรมันทั้งหมดให้สูญสลายไปในประกายอำนาจแห่งความเจริญรุ่งเรือง (หน้า ๕๕)  
คำอธิบาย  
การเรียงลำดับประโยค และถ้อยคำอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความจริง รอยยิ้มเศร้าๆ นั้นเป็นของข้าพเจ้าไม่ใช่ของพ่อค้าแตงโม แต่หากเขียนดังประโยคต่อไปนี้ “ข้าพเจ้าได้เดินกลับมาตามถนนแคบๆ ที่พ่อค้าแตงโมกำลังสาละวนกับการตั้งชั้นวางของขายพร้อมด้วยรอยยิ้มเศร้าๆ …” จะทำให้เข้าใจว่าเป็นรอยยิ้มเศร้าๆ ของพ่อค้าแตงโม
ตัวอย่าง  
           Je revenais, avec le triste sourire qu’appellent ces pensées, par les rues étroites où les marchands de pastèques déployaient leurs éventaires, songeant à cette amère vertu de la force qui fait disparaître pour vous l’âme romaine tout entière dans l’éclat de sa puissance d’un siècle (…) (p. ๔๒–๔๓)  
           ข้าพเจ้าเดินกลับพร้อมรอยยิ้มเศร้าๆ อันเกิดแต่ความคิดเหล่านี้ ตามถนนแคบๆ ที่พ่อค้าแตงโมกำลังสาละวนกับการตั้งชั้นวางของขาย ขณะนึกไปถึงคุณธรรมอันขมขื่นของการใช้พละกำลัง ซึ่งสำหรับท่านได้ทำลายจิตใจและวิญญาณของโรมันทั้งหมดให้สูญสลายไปในประกายอำนาจแห่งความเจริญรุ่งเรือง (หน้า ๕๕)  
คำอธิบาย  
การเรียงลำดับประโยค และถ้อยคำอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความจริง รอยยิ้มเศร้าๆ นั้นเป็นของข้าพเจ้าไม่ใช่ของพ่อค้าแตงโม แต่หากเขียนดังประโยคต่อไปนี้ “ข้าพเจ้าได้เดินกลับมาตามถนนแคบๆ ที่พ่อค้าแตงโมกำลังสาละวนกับการตั้งชั้นวางของขายพร้อมด้วยรอยยิ้มเศร้าๆ …” จะทำให้เข้าใจว่าเป็นรอยยิ้มเศร้าๆ ของพ่อค้าแตงโม
ตัวอย่าง  
           Vos conseils ont été suivis. Je viens de Rome où j’ai passé un temps assez long. J’ai vivement éprouvé le charme de ce beau jardin d’antiquaire à l’abandon, auquel la dernière divinité latine a fait présent de l’harmonie un peu dure que vous appelez le style. (p. ๓๙)  
           ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ ของท่าน ข้าพเจ้ากลับมาจากกรุงโรม ซึ่งข้าพเจ้าได้ใช้เวลาอยู่ที่นั่นนานพอควร ข้าพเจ้ารู้สึกต้องมนต์เสน่ห์ของอุทยานงามด้วยโบราณวัตถุที่ปราศจากการเหลียวแล ณ ที่แห่งนั้น ทิพยลักษณะแบบละตินรุ่นหลังได้สะท้อนความกลมกลืนที่ออกจะแข็งกระด้างเล็กน้อย ซึ่งท่านก็ได้ยกย่องเป็นแบบอย่าง (หน้า ๕๑)  

คำอธิบาย

 

           ๑. ประโยคแรก ถ้าแปลตรงตัวจะได้ความว่า “คำแนะนำต่างๆ ของท่านได้รับการปฏิบัติตาม”, “คำแนะนำต่างๆ ได้ถูกปฏิบัติตาม”, “คำแนะนำต่างๆ ถูกปฏิบัติตาม” รูปประโยคประเภท passive มีที่ใช้ในภาษาต่างประเทศมากกว่าภาษาไทย ถึงแม้บางครั้งภาษาไทยจะไม่นิยมใช้คำกริยาช่วย “ถูก” หรือ “ได้รับ” ก็ตาม แต่การใช้ประโยคประเภท passive เป็นสิ่งหลีกไม่ได้ เราจึงควรเลี่ยงการแปลตรงโดยการกลับประโยค ซึ่งน่าจะดีกว่า “ข้าพเจ้าปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ ของท่าน”

 
           ๒. การแปลคือการรวมทักษะอ่าน เขียน ศาสตร์ซึ่งอาจสอนกันได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การแปลคือการรู้จักเลือกใช้คำเหมาะสม และถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาเขียนที่สละสลวย ซึ่งทำให้งานแปลกลายเป็นงาน “ศิลปะ” ไม่ง่ายดายนัก คำว่า la dernière divinité latine จะหาถ้อยคำสละสลวยอย่างไรมาถ่ายทอดดี divinité คือลักษณะที่เป็น หรือที่เหมือนพระเจ้าหรือเทพเจ้า ในภาษาไทยเรามีถ้อยคำให้เลือกใช้ไม่น้อย คำเกี่ยวกับพระเจ้า เทพเจ้า เรามีคำว่า เทว เทวดา และทิพ-ทิพย-ทิพย์ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นของเทวดา เช่น “ทิพยญาณ” ความรู้เป็นทิพย์ “ทิพยเนตร” ตาทิพย์ คือจะดูอะไรเห็นได้หมด ดังนั้น divinité latine คือลักษณะที่เป็นของเทพแบบละติน ก็น่าจะกลายมาเป็นคำที่ไพเราะคมคายว่าทิพยลักษณะแบบละติน  
           ๓. คำว่า style มีความหมายด้วยตัวของคำเอง และความหมายที่เป็นไปตามบริบท ในที่นี้คงไม่สามารถนำความหมายตรงๆ มาใช้ได้ จึงจำเป็นต้องเลี่ยงไปใช้คำที่เข้ากับบริบท style เป็นรูปแบบ ชนิดหนึ่งที่ผู้คนถือปฏิบัติตาม

การแปลคำที่มีนัย

ตัวอย่าง  
           Les maîtres du bouddhisme ont parfois atteint à une pureté pleine de nuances et d’ intelligence dont je suis plus touché que de la vôtre où je sens trop de candide ardeur. Mais ils tombent dans les mêmes errements que vous. Se chercher et se fuir est également insensé. (p. ๗๙)  
           บางครั้งบรรดาพระอรหันต์ในพุทธศาสนาก็สามารถเข้าถึงความบริสุทธิ์ด้วยวิถีนานา และกอปรด้วยปัญญา ข้าพเจ้าเลื่อมใสความบริสุทธิ์ในการหยั่งรู้ภาวะหลุดพ้นเช่นนี้มากกว่าความบริสุทธิ์ตามแบบท่าน ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกถึงความเร่าร้อนของจิตใจที่แกร่งกล้าเกินไป แต่ผู้บรรลุธรรมเหล่านี้ก็ตกอยู่ในวังวนของการหลงผิดได้เช่นเดียวกับท่าน ค้นหาตัวเองและหนีตัวเอง ล้วนเป็นอวิชชาเท่ากัน (หน้า ๙๓)  

คำอธิบาย

 
           ๑. ในที่นี้คำว่า une pureté สร้างความกำกวมในการถ่ายทอด ในชั้นแรกผู้แปลคิดจะชี้ชัดลงไปว่าความบริสุทธิ์คือธรรมะนั่นเอง แต่ตัดสินใจในตอนสุดท้ายที่จะเก็บคำว่า “ความบริสุทธิ์” เอาไว้ เพราะพุทธไม่ได้มอง “ความบริสุทธิ์” แต่คิดว่ามอง “วิมุติ” (ความหลุดพ้น) ส่วนคริสต์มอง “ความบริสุทธิ์” อย่างไรก็ตามเป็นการบรรลุด้วยวิธีที่แตกต่างกัน  
           ๒. เพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจน และเนื่องจากไม่อาจแปลสรรพนาม ils ว่าเขาเหล่านั้นได้ เพราะเรายกย่องพระสงฆ์ จึงใช้คำว่าผู้บรรลุธรรมเป็นการเน้นอีกครั้ง

การแปลตัวอักษรเอน

ตัวอย่าง  
           Rien ne l’incline à l’action. Même en rêve… Il est . (p. ๗๘)  
           ไม่มีอะไรที่จะชักนำเขา (คนจีน) ไปสู่การกระทำได้ แม้ในความฝัน เขาก็ ดำรงอยู่ในสภาวะเช่นนั้น (หน้า ๙๒)  

คำอธิบาย

 
การจะแปลคำว่า Il est ซึ่งเป็นตัวอักษรเอนต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องที่กำลังแปลว่ามีแนวโน้มจะตีความ Il est ไปในทางใด เมื่อไม่สามารถแปลตรงๆ ตามถ้อยคำได้ และหลีกเลี่ยงการตีความไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเข้าใจบริบทแวดล้อมให้ถูกต้อง ในที่นี้ ผู้ประพันธ์กำลังชี้ความต่างของปรัชญาตะวันตก (l’action) และปรัชญาตะวันออก (l’état) ผู้แปลใช้วิธีอ่านเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจปรัชญาพุทธและเต๋า ได้ความเข้าใจมาว่า l’état คือ สภาวะ ในทางปรัชญาน่าจะหมายถึง”สภาพที่เป็น” เมื่อนำความเข้าใจมาเทียบเคียง จะได้ความว่า แม้ในความฝัน คนจีนก็ไม่ได้ทะเยอทะยาน คือไม่ได้ฝันว่าจะเป็นอะไร เขาเป็นอย่างที่เขาเป็น

การแปลที่ใช้การเติมความหรือคำขยายความสั้นๆ เพิ่ม

ตัวอย่าง  
           Ombres plus anciennes, savantes et militaires, des Empereurs Tang; tumulte des cours où se heurtaient toutes les religions et toutes les magies du monde (p. ๑๕)  
           เห็นเงาอดีตอันเก่าแก่กว่านั้น นักปราชญ์ และขุนศึก บรรดาจักรพรรดิราชวงศ์ถัง เห็นความวุ่นวายในราชสำนักอันขัดต่อจริยธรรมคำสอนในศาสนาและไสยศาสตร์ทั้งปวงในสากลโลก (หน้า ๒๗)  

คำอธิบาย

 
ในตัวบทที่แปลไม่มีคำว่า “เห็น” แต่เมื่อแปลออกมา ผู้แปลจำเป็นต้องเติมคำนี้ลงไปเพราะอ่านแล้วเข้าใจว่าขณะที่ผู้ประพันธ์เดินทางอยู่ในเรือเดินสมุทร เขาจินตนาการตามหนังสือที่ได้อ่าน (ดูหน้าแรกที่กล่าวไว้ว่า โอ้ว่า การค้นพบ… มนุษย์ผู้ล้อมจับรูปทรงต่างๆ ทีละรูป แล้วกักขังไว้ในหนังสือมากหลาย ได้ตระเตรียมความคิดคำนึงของข้าพเจ้าให้โลดแล่น) จึงเป็นการเห็นในความคิดคำนึง  
           นอกจากนี้ ผู้ประพันธ์ยังนำเทคนิคตัดต่อภาพแบบภาพยนตร์มาใช้ หรือมองว่าเป็นวิธีเขียนที่นำภาพหลายๆ ภาพมาต่อเรียงกันไปก็ได้ แต่หากแปลข้อความเหล่านี้เรียงๆ กันไป อาจทำให้สับสน จึงคิดว่าอาจต้องชี้แนะแก่ผู้อ่านเล็กน้อย เพื่อช่วยสร้างความหมายรวมทั้งความเข้าใจในการอ่านให้เกิดขึ้น

ความรู้รอบตัวในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานแปล

ตัวอย่าง  
           Du haut des couvents aux toits plats des provinces tibéthaines, le plus beau mystère descend, le long des routes de sable feutré, jusque devant la mer où il s’épanouit en d’innombrables temples cornus, couverts de clochettes tremblantes. (p. ๑๓)  
           จากสังฆาราม หลังคาเรียบแห่งหมู่บ้านทิเบต ความขลังสุดงดงามเลื่อนลงตามทางโรยทรายดุจสักหลาด จวบจนถึงเบื้องหน้าท้องทะเล ณ ที่แห่งนั้นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ก็เบ่งบานออกเป็นวัดวาอารามสุดคณนานับ ประดับช่อชั้นรูปเขาโค้งงอนและระงมด้วยเสียงกังสดาลไหวแกว่ง (หน้า ๒๕)  
คำอธิบาย  
           ๑. ปัญหาในการแปลอาจเกิดจากการขาดความรู้รอบตัวและภูมิหลังในเรื่องที่ต้องแปลก็ได้ แม้จะรู้ศัพท์หมดทุกตัว อ่านประโยคเข้าใจทั้งหมดก็ตาม แต่หากขาดความรู้รอบตัวไม่ว่าจะในเชิงประวัติศาสตร์ หรือภูมิศาสตร์ ก็จำเป็นต้องหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ เพิ่ม เช่นรู้ว่าทิเบตเป็นดินแดนที่ห้อมล้อมด้วยภูเขามากมาย และที่ราบระหว่างหุบเขากว้างใหญ่ในทิเบต กลายเป็นท้องน้ำแห้งที่เต็มไปด้วยทรายและกรวดหิน ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเมื่อล้านปีก่อนอาจเคยเป็นทะเลสาบ ผู้ประพันธ์จับภาพที่เห็นเพียงภาพเดียว คือภาพหมู่บ้านทิเบต ซึ่งมีอารามสงฆ์รายรอบด้วยบ้านหลังเล็กหลังน้อยลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆ เสมือนเมืองปราการ  
           ๒. le plus beau mystère descend (…) คำว่า mystère คงไม่อาจแปลว่าความลึกลับได้ ที่เลือกใช้คำว่า “ความขลัง” แทนนั้น ในคำๆ นี้มีความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ที่มิอาจอธิบายได้ ซึ่งแฝงพลังแห่งการดลบันดาลไว้ด้วย  
           ๓. เนื้อความที่เลือกมานี้ กริยา descendre แสดงความเคลื่อนไหว และ s’épanouir en แสดงการแตกตัว ให้ลีลาที่มีชีวิตชีวา และสะท้อนพลังมหัศจรรย์ของสถานที่อันน่าตื่นตาตื่นใจเบื้องหน้า

* รองศาสตราจารย์ ประจำสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาควิชาภาษาปัจจุบันต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *