ผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์การอ่าน

มกุฏ อรฤดี

สัมภาษณ์ : นราวุธ ไชยชมภู

GM Magazine ฉบับที่ ๓๔๙ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐

บ่ายของวันครึ้ม GM เดินทางไปพบ มกุฏ อรฤดี ที่บ้านชั้นเดียวหลังย่อมในซอยสุขุมวิท ๒๔ ที่นี่เป็นทั้งบ้านและที่ทำงานของเขา ‘มกุฏ อรฤดี’ คือ บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการจัดทำวรรณกรรมชิ้นเอกของโลกอย่าง ‘ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่าฯ’ ฉบับภาษาไทย ผู้ริเริ่มการใช้กระดาษถนอมสายตา และนำการเย็บกี่ไสกาวมาใช้ในพ็อกเก็ตบุ๊ค รวมถึงสอนวิชาบรรณาธิการต้นฉบับ วิชาหนังสือ วิชาคิดและเขียนวรรณกรรมเยาวชนในระดับอุดมศึกษา

           ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามที่จะพัฒนาวงการหนังสือของมกุฏ แต่บรรณาธิการวัย ๕๗ ปี บอกว่า สิ่งที่เขาทำมาตลอดชีวิตไม่ต่างจากไม้จิ้มฟันที่ไม่สามารถงัดคานสิ่งใดได้ หากรัฐบาลไม่ก่อตั้ง ‘สถาบันหนังสือแห่งชาติ’ เพื่อเป็นศูนย์กลางการจัดระบบหนังสือ รากแก้วแห่งการอ่านของฅนไทยจึงจะหยั่งลงบนแผ่นดินนี้อย่างแข็งแรง และมั่นคง มกุฏบอกว่าปัญหาการอ่านของไทยแก้ไขไม่ยาก ทว่าการสนทนาหลังถ้วยชาครั้งนี้มีความเงียบงัน ก้องดังขึ้นบ่อยครั้งเหลือเกิน

  • ผมศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่อายุ ๑๓ จนตอนนี้ ๕๗ ปีแล้ว ผมใช้เวลา ๔๔ ปี เก็บทีละเล็กละน้อยถึงเข้าใจว่า ต้องแก้แบบนี้ มันจะเร็วและง่าย ตอนนี้เรากำลังเจ็บนิ้วมือ นิ้วเท้า แต่ถ้ามัวรักษานิ้วมันไม่มีทางหายป่วย เพราะจริงๆ แล้วเราเป็นโรคเบาหวาน มันเลยลามไปหมด ซึ่ง ‘สถาบันหนังสือแห่งชาติ’ จะเชื่อมโยง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ แก้ไขทุกปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ หาหนังสือเล่มไหนไม่ได้มาที่นี่ มีปัญหาลิขสิทธิ์มาที่นี่ มีปัญหาการแปลมาที่นี่ แล้วไม่ต้องบ่นอีกต่อไปว่าฅนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ ๘ บรรทัด เพราะทุกหนทุกแห่งจะมีหนังสือให้อ่านฟรี
  • ตราบใดที่รัฐบาลไม่เข้าใจระบบหนังสือ ก็ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ ตายอีกกี่ชาติก็แก้ไม่ได้ ประเทศไทยจะยังคงล้าหลังเรื่องหนังสือต่อไปอีก ไม่ใช่ ๑๐๐ ปี แต่จนสิ้นโลก โลกแตกแล้วจักรวาลบังเกิดโลกมนุษย์ดวงใหม่ ถ้ายังมีประเทศไทยก็ยังล้าหลังอีก
  • หนังสือไม่ใช่สินค้า แต่คือสิ่งพิเศษ มันควรจะมีแต่หนังสือดี เมื่อใดที่คิดว่าหนังสือคือสินค้า เราจะคำนวณว่าลงทุนเท่านี้ได้กำไรเท่านั้น-ไม่ได้ บางครั้งสำนักพิมพ์ต้องคิดว่า ถึงหนังสือเล่มนี้จะขาดทุนแต่ต้องพิมพ์ เพราะมันดี ซึ่งอะไรก็ตามที่ผลิตอย่างพิเศษแล้วได้กำไรน้อย รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามา รัฐบาลช่วยทุกธุรกิจ แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจหนังสือ
  •  การส่งเสริมการอ่านจำเป็นต้องพัฒนาระบบหนังสือของประเทศไปพร้อมๆ กัน จะแยกแก้ปัญหาทีละจุดไม่ได้ ไม่ว่าระยะเร่งด่วนหรือระยะยาว เนื่องจากสำนักพิมพ์ สายส่งนักเขียน และกลุ่มองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ ไม่มีใครแก้ปัญหาของตัวเองได้ด้วยตัวเอง เพราะตัวเขาต้องเกี่ยวข้องกับฅนอื่น ด้วยเหตุนี้จึงต้องมี ‘สถาบันหนังสือแห่งชาติ’ เป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา
  • หากพัฒนาแบบแยกส่วนจะไม่มีทางสำเร็จ เช่น ต้องการสนับสนุนนักเขียน ให้เงินเดือนฅนที่มีฝีมือ เขียนเสร็จ พิมพ์เสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่าไม่มีใครอยากอ่าน ก็ต้องให้นักวิจารณ์แนะนำ แต่ทั้งประเทศมีนักวิจารณ์ ๕ ฅน มีน้อยเกินไปอีก เพราะเราชอบคิดต่อยอด เราไม่เคยดูว่ารากของเรามีอะไร เราไม่มีรากจริงๆ สักอย่าง แต่ละส่วนต้องมีรากของตัวเอง

“รัฐบาลช่วยทุกธุรกิจ แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจหนังสือ”

  • จุดเริ่มต้นคือต้องมีกฎหมาย รัฐบาลเขียนกฎหมายอะไรตั้งเยอะ แต่กฎหมายที่ว่าด้วยสติปัญญาของประชาชนกลับทำไม่ได้ อย่างสิงคโปร์ ร่างกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นมาบังคับใช้แล้วทุกอย่างง่ายไปหมด เช่น หมู่บ้านจัดสรรต้องมีห้องสมุด ตึกใหญ่ต้องมีห้องสมุด ห้างสรรพสินค้าต้องมีห้องสมุด รัฐบาลไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ เพราะกฎหมายบังคับให้ต้องทำ ถ้าไม่มีกฎหมายรัฐบาลก็ต้องอ้าง อยากให้ฅนเข้าห้องสมุดก็เช่าที่แพงๆในศูนย์การค้าเพื่อทำห้องสมุด ถ้าเรามีกฎหมายทุกอย่างก็ง่ายนิดเดียว
  •  แหล่งความรู้พื้นฐานของฅนในชาติคือการอ่านหนังสือ ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราไปไหนไม่รอด ได้แต่เฮตามญี่ปุ่น เกาหลี นักเขียนไทยแทบขายหนังสือไม่ได้ ปีหนึ่งพิมพ์ ๓,๐๐๐ เล่ม จะมีชีวิตอยู่ได้ยังไง ใครจะคิดออก มีฅนเดียวที่คิดออก…(หยุดนิดหนึ่ง)… พระเจ้า…บังเอิญพระเจ้างานเยอะ รัฐบาลจึงต้องทำ ท้ายที่สุดประเทศไทยอาจล้าหลังที่สุดในเอเซีย เพราะตอนนี้เวียดนามไปไกลว่าเราแล้ว พม่า เขมร ลาวก็กำลังพัฒนา
  • ผมปิดสำนักพิมพ์ ๒ ปี เพื่อทำเรื่องนี้เสนอรัฐบาล ประชุม สัมมนา เดินทางทั่วประเทศ โดยใช้เงินส่วนตัว กระทั่งร่างโครงสร้าง ‘สถาบันหนังสือแห่งชาติ’ เสร็จและเสนอกฤษฎีกาเพื่อเป็นกฎหมาย แต่พอกฤษฎีกาออกมาจริงๆ กลับเป็นการตั้งสถานที่ ไม่ใช่ตั้งระบบ ทุกอย่างจบ หมดหนทางที่ผมจะไล่ตาม ก็กลับมาทำหน้าที่ในส่วนที่ตัวเองทำได้
  • หลังการเสนอโครงสร้างนี้ล้มเหลว ผมต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อทำบอลลูนหัวใจ ผมหัวใจสลายด้วยความผิดหวัง เพราะผมหวังมากว่าต่อไปนี้ฅนไทยจะได้อ่านหนังสือมากขึ้น

“แหล่งความรู้พื้นฐานของฅนในชาติคือการอ่านหนังสือ ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราไปไหนไม่รอด ได้แต่เฮตามญี่ปุ่น เกาหลี นักเขียนไทยแทบขายหนังสือไม่ได้ ปีหนึ่งพิมพ์ ๓,๐๐๐ เล่ม จะมีชีวิตอยู่ได้ยังไง”

  •  การอ่านให้ทุกสิ่งที่เป็นตัวผม เพราะการอ่านหนังสือให้ความเป็นฅน ย่อประสบการณ์มาไว้ในไม่กี่ประโยค เพียง ๒-๓ ประโยคในหนังสือของท่านพุทธทาสอาจเปลี่ยนชีวิตคุณได้ หนังสือทำให้ฉลาด ลึกซึ้ง ประณีต มากกว่าฉาบฉวย คือสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์
  • ความสุขในชีวิตของผมมาจากการทำหนังสือ ผมอยู่กับหนังสือ ๒๔ ชั่วโมง ผมจะเอาหนังสือที่พิมพ์เสร็จใหม่ๆ ไปนอนด้วยเล่มหนึ่ง เปิดอ่านหาสิ่งที่ไม่น่าพอใจ นอนคิดไปเรื่อยๆผมยังนึกไม่ออกว่าจะมีการงานอะไรที่วิเศษกว่านี้
  • ต้นฉบับ ‘ดอนกิโฆเต้ฯ’ มีแต่กลิ่นเหงื่อของผม เพราะเอาไปนอนด้วยตลอด อ่าน ๑๒ รอบ บางบทอ่าน ๑๐๐ รอบ รู้เลยว่าทำงานครึ่งชีวิตเทียบได้กับการตรวจหนังสือเล่มนี้เล่มเดียว วิเศษถึงขนาดที่ถ้าผมเจอหนังสือเล่มนี้ก่อนหน้านี้ผมคงได้รู้อะไรอีกเยอะ ช่วยย่นระยะทางการเรียนของผมมากๆ เพราะหนังสือเล่มนี้บรรจุทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับวรรณกรรม เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้ฅนไทยรู้เรื่องวรรณกรรม ก็ควรให้ฅนของเราได้อ่านหนังสือเล่มนี้
 
  • ทุกสิ่งในหนังสือล้วนกร่อนโลกไปมาก อย่าลืมว่ากระดาษแต่ละแผ่นบังเกิดจากการโค่นต้นไม้ การพิมพ์ต้องใช้ไฟฟ้า ใช้กาวซึ่งพนักงานทำปกสูดเข้าไปมากๆ จะทำให้เป็นมะเร็งปอด พีวีซีที่เคลือบปกก็เป็นตัวร้ายที่ทำให้โลกร้อน หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตฅนมากมาย ผมไม่คิดแค่ขอให้ได้กำไรก็พอ แต่หวังให้หนังสืออยู่ไปอีก ๕๐๐ ปี ไม่อย่างนั้นสำนักพิมพ์ก็ไม่ต่างจากโรงงานผลิตกระดาษชำระ
  • การทำหนังสือดีก็เหมือนการสร้างโบสถ์วิหาร เพราะหนังสือแต่ละเล่มล้วนกล่อมเกลาให้สติปัญญางอกงาม แล้วหนังสืออยู่ได้นานกว่าชีวิตฅน เพราะฉะนั้นอย่าทำชุ่ย ถ้าผมตายวันนี้หนังสือยังฟ้องว่าผมทำเพื่อเงิน ทำส่งเดช ผมจึงคิดไกลมากกว่าการขายหนังสือ ๑ เล่ม เพราะผมขายสติปัญญาขายความคิด ขายใจ ขายวิญญาณของตัวเอง คุณซื้อหนังสือของผม ๑ เล่ม คุณก็ซื้อวิญญาณของผมไปด้วย
  • ผมนั่งอ่านหนังสือในท่าที่ผิดตั้งแต่เด็ก กระดูกคอของผมเลยเสื่อม หมอนรองกระดูกชิ้นหนึ่งจึงไปกดทับเส้นประสาท อันที่จริงหมออยากผ่าตัด แต่ผมกลัว เลยต้องพยายามกู้สถานภาพของคอด้วยวิธีอื่น ขอเตือนนักอ่านนักเขียนทั้งหลายให้นั่งท่าตรงมากขึ้น

“หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตฅนมากมาย ผมไม่คิดแค่ขอให้ได้กำไรก็พอ แต่หวังให้หนังสืออยู่ไปอีก ๕๐๐ ปี ไม่อย่างนั้นสำนักพิมพ์ก็ไม่ต่างจากโรงงานผลิตกระดาษชำระ”

  • ผีเสื้อตัวนี้กำลังบินไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ เจอเกสรดอกไม้ที่ไหนหอมๆ หวานๆ ก็แวะแล้วก็บินต่อ หวังว่ายุคต่อไปจะยังบินได้แบบนี้ ผีเสื้อไม่ต้องเติบโตมาก เพราะพุงอาจแตกแล้วลืมว่าตัวเองเป็นใคร ไม่ต้องร่ำรวย ผลิตหนังสือปีหนึ่ง ๕-๑๐ เล่มก็พอ พออยู่ได้ อยู่อย่างสง่าผ่าเผย ฅนอื่นอาจสงสัยว่า เอ๊ะ!อยู่ได้ยังไง ก็ผมกินน้อย
  • เราต้องเริ่มต้นปลูกเมล็ดพันธุ์การอ่าน ไม่ใช่ต่อกิ่ง แต่งตา อะไรทั้งสิ้น ขุดดิน ปลูกให้รากหยั่งลึกลงไป อย่าหวังฅนในยุคนี้ แต่จงหวังฅนในยุคหน้า (เน้นเสียง) หวังกับเด็กที่อายุ ๑-๔ ขวบตอนนี้ เพราะถ้าเราเริ่มต้นวันนี้ อีก ๒๕ ปี ข้างหน้า ฅนไทยจะอ่านหนังสือครึ่งค่อนประเทศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *