การแปล La Voie Royale หรือ ราชมรรคา

วัลยา วิวัฒน์ศร

La Voie royale หรือ ราชมรรคา (สำนักพิมพ์ผีเสื้อ พ.ศ. ๒๕๓๙) เป็นนวนิยายที่แปลเพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ ๒๐ ปี มรณกรรมของ อ็องเดร มาลโรซ์ ในปี ค.ศ. ๑๙๙๖ เนื่องจากผู้แปลรู้จักมาลโรซ์เพียงผิวเผิน จึงต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีในการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับนักประพันธ์ผู้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่มาลโรซ์ใช้เป็นวัตถุดิบในการแต่ง ราชมรรคา นอกเหนือไปจากข้อมูลชีวประวัติของผู้แต่ง รวมทั้งศึกษางานประพันธ์เรื่องอื่นๆ ของเขา เพื่อให้เข้าถึงโลกทัศน์และกลวิธีการประพันธ์ของเขา

           ในนวนิยายเรื่องนี้ มาลโรซ์เสนอภาพด้วยมุมมองของกล้องถ่ายภาพยนตร์ และใช้ลีลาการเขียนสะบัดร้อนสะบัดหนาวดุจคนเป็นไข้สูง เข้ากับบรรยากาศของเรื่องซึ่งเกิดในป่าดงดิบของเขมร ลาวและบริเวณชายแดนสยาม นอกจากนี้ผู้ประพันธ์ยังใช้อุปมาและอุปลักษณ์ เสนอภาพพจน์แทบจะตลอดทั้งเรื่อง ผู้แปลใช้เวลาอีกหกเดือนในการแปลและตรวจสอบฉบับแปลนวนิยายเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ได้ค้นข้อมูลเต็มที่และอ่านฉบับภาษาฝรั่งเศสมากกว่าสิบเที่ยว ทำงานร่วมกับเจ้าของภาษาสม่ำเสมอเพื่อช่วยกันตีความประโยคยากบางประโยคในนวนิยาย แต่ผู้แปลก็ปวดหัวทุกครั้งขณะอ่านทวน ขณะแปล และขณะที่คิดว่าจะหยิบขึ้นมาแปลต่อ จนกระทั่งผู้แปลสามารถ ‘จับ’ กลวิธีและลีลาการเขียนได้อย่างแท้จริงจากต้นฉบับ (มิใช่จากบทวิจารณ์ บทความวิชาการ) อาการปวดหัวจึงหมดไป และได้เข้าใจว่านักประพันธ์ผู้นี้ยิ่งใหญ่เพียงใด ตลอดจนรู้สึกว่าตนเองกระจ้อยร่อยแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับนักประพันธ์ผู้นี้

           มาลโรซ์ใช้มุมมองแบบทรรศนะไร้ขอบเขตในการแต่งเรื่อง ราชมรรคา ผู้เล่าเรื่องของเขาเป็นผู้เล่าเรื่องผู้รู้แจ้ง กล่าวคือรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในนวนิยาย และหยั่งรู้ไปถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครทั้งในระดับจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก นอกจากนี้มาลโรซ์ยังใช้กลวิธีพิเศษ คือใช้มุมมองของกล้อง ภาพยนตร์ ผู้เล่าเรื่องผู้รู้แจ้งมองสิ่งที่เขาบรรยายผ่านมุมกล้องภาพยนตร์ สลับกับจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกของตัวละคร วรรณศิลป์นี้ถ้าผู้แปลเข้าไม่ถึงก็จะแปลไม่ได้ เพราะอ่านไม่ออก ไม่รู้เรื่อง และไม่เข้าใจสิ่งที่ตนกำลังอ่าน มองไม่เห็นภาพที่ผู้ประพันธ์เสนอ เมื่อมองไม่เห็นภาพก็แปลไม่ได้

           ปัญหาต่อมาที่เกิดขึ้น ก็คือการอ่านฉบับแปล เมื่อผู้แปลเข้าถึงวรรณศิลป์ของผู้ประพันธ์ แปลได้แล้วโดยยังรักษาวรรณศิลป์ของนักประพันธ์ไว้ ผู้อ่านฉบับแปลก็จะเจอปัญหาแบบเดียวกับที่ผู้แปลพบมาก่อน คือถ้าไม่รู้วรรณศิลป์ของนักประพันธ์ ก็ยากที่จะเข้าใจ ผู้แปลจึงต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการเสนอแนะวิธีอ่านไว้ในคำนำ (‘บันทึกผู้แปล’) และเขียนบทความวิเคราะห์นวนิยายเรื่องนี้ ทั้งในแง่ที่มาและศิลปะการประสานโครงเรื่อง ตลอดจนเขียนประวัตินักประพันธ์ พิมพ์รวมอยู่ท้ายฉบับแปล

ผู้แปลขอคัดตัวอย่างการแปลการใช้มุมมองจากเรื่อง ราชมรรคา ดังนี้

ตัวอย่างที่ ๑ : การบรรยายตามการเคลื่อนที่ของกล้อง (travelling)

           พวกเขาเริ่มเห็นหมู่บ้านสะเตียงอยู่สุดเส้นทาง คล้ายมองผ่านแว่นขยายของกล้องส่องทางไกล (๑) หมู่บ้านนั้นรุกล้ำที่โล่ง (๒) โกล๊ดมองดูเชิงเทินไม้เหมือนดูอาวุธที่ยังไม่ รู้จัก (๓) ซุงทั้งต้นตั้งเรียงเป็นเครื่องกีดขวาง ซ่อนป่าไว้สิ้น (๔) (พวกเขามาถึงใกล้แล้ว) สำแดงแจ้งชัดถึงพลังอย่างหนึ่งซึ่งบรรดาวัตถุที่โผล่พ้นเชิงเทินก่อให้เกิดความกังวลใจ (๕) (หน้า ๑๔๖ ผู้แปลเป็นผู้ใส่ตัวเลขในวงเล็บท้ายประโยค)

           ในประโยคที่ ๑ ตัวละครยังอยู่ในป่าห่างไกลจากหมู่บ้านมาก มองเห็นหมู่บ้านผ่านช่องว่างอันเกิดจากเส้นทางในป่า ประโยคที่ ๒ แสดงว่าพวกเขาเดินทางใกล้เข้ามา ในระยะมองเห็นที่โล่งรอบหมู่บ้าน ในประโยคที่ ๓ พวกเขาใกล้เข้ามาอีก เมื่อถึงประโยคที่ ๔ พวกเขาถึงตีนเชิงเทินแล้ว มาลโรซ์ถึงกับระบุในวงเล็บว่า ‘พวกเขามาถึงใกล้แล้ว’ ด้วยเกรงว่าผู้อ่านจะไม่เข้าใจว่าเชิงเทินจะซ่อนป่าได้อย่างไร ความท้ายประโยคที่ ๕ แสดงถึงจิตสำนึกของตัวละคร

“ในนวนิยายเรื่องนี้ มาลโรซ์เสนอภาพด้วยมุมมองของกล้องถ่ายภาพยนตร์ และใช้ลีลาการเขียนสะบัดร้อนสะบัดหนาวดุจคนเป็นไข้สูง เข้ากับบรรยากาศของเรื่องซึ่งเกิดในป่าดงดิบของเขมร ลาวและบริเวณชายแดนสยาม นอกจากนี้ผู้ประพันธ์ยังใช้อุปมาและอุปลักษณ์ เสนอภาพพจน์แทบจะตลอดทั้งเรื่อง”

ตัวอย่างที่ ๒ : การบรรยายตามการดึงภาพเข้าใกล้แล้วเลื่อนออกห่าง ( Zoom in, Zoom out )

           สี่วันมาแล้ว กระโจมแรมใกล้ๆ หมู่บ้านซึ่งล้วนได้จากป่า ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปไม้ของชาวบ้านหรือตับจากมุงหลังคา (๑) กระท่อมรูปร่างเหมือนแมลงน่าเกลียด น่ากลัวโผล่จากพื้นดินชุ่มชื้น (๒) ความคิดฟุ้งกระเจิงกระจายใต้แสงซึ่งหักเหดุจผ่านผืนน้ำ (๓) (หน้า ๘๘)

           ประโยคที่ ๑ เป็นการดึงภาพเข้ามาใกล้ เห็นกระทั่งพระพุทธรูปไม้และตับจากที่ใช้มุงหลังคา ประโยคที่ ๒ เป็นการเลื่อนภาพห่างออกไปเห็นกระท่อมทั้งหลัง ความเปรียบกระท่อมกับแมลงน่าเกลียด น่ากลัวและความชุ่มชื้นในป่า ตลอดจนการเดินทางหลายวันในป่า (ประโยคที่ ๑) เป็นที่มาของจิตสำนึกของตัวละครซึ่งไม่สามารถจะมีสมาธิรวบรวมความคิดของตนได้ (ประโยคที่ ๓) ป่าทึบยังมีแสงลอดลงมาบ้าง ความชุ่มชื้นในป่าทำให้แสงนั้นหักเหดุจผ่านผืนน้ำ

ตัวอย่างที่ ๓ : การบรรยายด้วยภาพใกล้ ( Close Up )

           สี่วันมาแล้ว กระโจมแรมใกล้ๆ หมู่บ้านซึ่งล้วนได้จากป่า ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปไม้ของชาวบ้านหรือตับจากมุงหลังคา (๑) กระท่อมรูปร่างเหมือนแมลงน่าเกลียด น่ากลัวโผล่จากพื้นดินชุ่มชื้น (๒) ความคิดฟุ้งกระเจิงกระจายใต้แสงซึ่งหักเหดุจผ่านผืนน้ำ (๓) (หน้า ๘๘)

           ประโยคที่ ๑ เป็นการดึงภาพเข้ามาใกล้ เห็นกระทั่งพระพุทธรูปไม้และตับจากที่ใช้มุงหลังคา ประโยคที่ ๒ เป็นการเลื่อนภาพห่างออกไปเห็นกระท่อมทั้งหลัง ความเปรียบกระท่อมกับแมลงน่าเกลียด น่ากลัวและความชุ่มชื้นในป่า ตลอดจนการเดินทางหลายวันในป่า (ประโยคที่ ๑) เป็นที่มาของจิตสำนึกของตัวละครซึ่งไม่สามารถจะมีสมาธิรวบรวมความคิดของตนได้ (ประโยคที่ ๓) ป่าทึบยังมีแสงลอดลงมาบ้าง ความชุ่มชื้นในป่าทำให้แสงนั้นหักเหดุจผ่านผืนน้ำ

ตัวอย่างที่ ๔ : การบรรยายด้วยภาพมุมกว้าง

           เสียงปืนดังถี่ขึ้นทุกที เสียงสะท้อนก้องทั่วหมู่บ้านซำโรงและเสียงกระดึงใต้หลังคาโบสถ์ (๑) ประกายไฟวูบเป็นระยะๆ ยกเว้นแถบดำมืดแห่งหนึ่ง ในบริเวณแสงโค้งล้อมเกือบรอบนั้น (๒) เสียงจั๊กจั่นยามราตรีแว่วมา เห็นแสงสลัวสีค่อนแดงของไฟสัญญาณแจ้งภัย (๓) ชาวลาวในวงล้อมจะอยู่อย่างสงบสุขได้อย่างไร (๔) (หน้า ๒๑๗)

           ประโยคที่ ๑, ๒ และ ๓ แสดงภาพมุมกว้าง เป็นภาพหมู่บ้านซำโรงในความมืด ถูกกองกำลังปิดล้อมและยิงปืนขู่เป็นระยะ ‘แถบดำมืด’ในประโยคที่ ๒ คือบริเวณที่กองกำลังยกไปไม่ถึง จึงไม่มีประกายไฟวูบออกมา ภาพที่เห็นเป็นภาพสี มีสีดำเป็นพื้น แสงสว่างวาบจากปลายกระบอกปืนต่อเนื่องเป็นรูปโค้ง และยังมีแสงสลัวสีค่อนข้างแดงของไฟสัญญาณแจ้งภัย เสียงในภาพคือเสียงปืน เสียงสะท้อนของปืน เสียงกระดึงและเสียงจั๊กจั่น หากจะแยกประเภทของเสียง ก็จะได้เสียงที่ทำลายล้างชีวิต เสียงแห่งสันติธรรมและเสียงจากธรรมชาติซึ่งคล้ายไม่ใส่ใจหรือไม่เกี่ยวข้องกับการเข่นฆ่า ประโยคสุดท้ายแสดงจิตสำนึกของผู้เล่าเรื่องที่ห่วงใยชาวลาว

           นอกจากบรรยายโดยใช้มุมกล้องถ่ายภาพแล้ว ยังมีการบรรยายโดยใช้เสียงนำ ซึ่งในตอนแรก ผู้อ่าน-ผู้แปลที่ไม่เข้าใจกลวิธีนี้ ก็จะไม่เข้าใจ เนื่องจากในบทบรรยายนั้นพูดถึงเสียงที่ได้ยินแทรกมา ๑ ประโยค แล้วก็บรรยายเปรียบเทียบโดยยังมิยอมขยายความว่าเป็นเสียงอะไร ใช้เนื้อที่ไปอีกหลายย่อหน้า ผู้อ่านที่ไม่ได้อ่านละเอียดหรือไม่ได้ใส่ใจทุกตัวอักษรก็จะงง หรืออ่านผ่านๆ ไปโดยมองไม่เห็นกลวิธีชักนำของผู้ประพันธ์ ที่พาผู้อ่านไปสู่สิ่งที่เขาต้องการเสนอ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างที่ ๕ : การบรรยายโดยใช้โสตสัมผัสและเลนส์กล้องส่องทางไกล

เขามองดูป่าและหมู่บ้าน พลางกัดเล็บอย่างแรงเพื่อมิให้เกาแผล สายตาเหม่อมองไปไกล โกล๊ดเข้าใจภราดรภาพที่ดึงดูดเพร์เค่นไปสู่สถานอันไกลโพ้น จึงไม่พูดต่อ และความกังวลก็ทำให้เขาเงียบ เสียงกระแทกกระทบแว่วมาเป็นระยะ แล้วจางหายไปในความสงัดเงียบชวนง่วงงุนราวกับว่าเสียงนั้นเกิดจากกลุ่มควันลอยสูงซึ่งละล่องอย่างไม่ยอมหยุดคล้ายผีไพร ผ่านความกว้างใหญ่ไพศาล เสียงนั้นยังค่อยเกินกว่าที่จะก้องกระจายไปทั่วขุมนรกอันเจิดจ้าด้วยแสงสว่างแห่งนี้ จึงถูกกลืนหายไปมิต่างจากนกที่ร่วงผล็อยดิ่งลง ดุจหินหล่นสู่ทิวไม้หนาทึบพลันที่โผล่พ้นออกมา ด้วยตระหนกในแรงปะทะแห่งดวงตะวัน เสียงซึ่งสูญหายไปในแสงสว่างนั้นเว้นช่องว่างห่างสม่ำเสมอ จึงฟังดูคล้ายการประกาศอันศักดิ์สิทธิ์จากดาวเคราะห์ห่างไกลดวงอื่น โกล๊ดหวนระลึกถึงเสียงแง่ฆ้อนกระทบหิน
           “ฟังสิ…”
           “อะไร”
           เขาได้ยินแต่เสียงความเจ็บปวดของเขาซึ่งค่อยๆ จางลง เขาหยุดหายใจ หนึ่ง…สอง…สาม…สี่…เสียงนั้นใกล้เข้ามาทุกขณะ ชัดแต่ทุ้มหนักเหมือนกระทบของชื้น ควันที่ลอยอ้อยอิ่งคล้ายเพิ่มความถี่ของเสียง
           “เสียงคน” โกล๊ดกล่าว “พวกเขากำลังสร้างเครื่องกีดขวางป้องกันตนเองหรือ”
           “พวกมอยหรือ ไม่ใช่หรอก ควันยังคืบหน้าอยู่ แต่เสียงนี้มันใกล้เรากว่านั้น”
           เพร์เค่นพยายามส่ายกล้องส่องทางไกลไปทางทิศที่ได้ยินเสียง ทว่าไร้ผล หมอกสีน้ำเงินอันเกิดจากความร้อน แม้จะไม่บดบังป่าแต่ก็ทำให้เห็นรูปทรงเลือนราง เขารู้สึกเสียวปลาบหัวเข่าเป็นช่วงๆ เหมือนเสียงตีระฆัง ไม่ประสานสอดคล้องกับเสียงซึ่งได้ยินเมื่อครู่ และไม่มีร่างมนุษย์ใดๆ ปรากฏขึ้นให้เห็นในธรรมชาติอันเต็มเปี่ยมแต่เพียงความจงเกลียดจงชัง ดั่งว่าธรรมชาตินี้แหละเป็นผู้สร้างกลุ่มควันและเสียงทุบหนัก เบื้องล่าง มีประกายวาบขึ้น เหมือนแสงอาทิตย์กระทบกระจกสะท้อน แต่บริเวณนั้นไม่มีแม่น้ำ (หน้า ๒๑๒-๒๑๓)

“ในการแปล หากไม่ได้อ่านต่อเนื่องอย่างระมัดระวังโดยละเอียดและไม่ได้อ่านหลายเที่ยว ก็จะมองไม่เห็นภาพอันเกิดจากเสียงตั้งแต่ประโยคแรก”

           ในย่อหน้าแรก บรรทัดที่สาม เริ่มกล่าวถึงเสียงเป็นครั้งแรก ด้วยประโยคที่ว่า ‘เสียงกระแทกกระทบแว่วมาเป็นระยะ…’ ในย่อหน้านี้ พูดถึงเสียงดังกล่าวอีก ๓ ครั้ง ‘เสียงนั้นเกิดจากกลุ่มควัน…’ ‘เสียงนั้นยังค่อย…’ ‘เสียงซึ่งสูญสลาย’ และเสียงนั้นทำให้ตัวละครโกล๊ดหวนระลึกถึง ‘เสียงแง่ฆ้อนกระทบหิน’ จากประสบการณ์ของเขาในช่วงที่เสาะหาศิลาจำหลักภาพ เสียงดังกล่าวที่พูดถึงอีก ๓ ครั้งล้วนมีความเปรียบ เปรียบกับ‘ผีไพร’ ‘นกที่ร่วงผล็อย’ และ ‘ประกาศอันศักดิ์สิทธิ์…’ ตามลำดับ เมื่อสิ้นสุดย่อหน้านี้ ผู้อ่านยังไม่ทราบว่า ‘เสียงกระทบกระแทก’ ดังกล่าวเป็นเสียงใด

           ในย่อหน้าบรรยายถัดมา กล่าวถึง ‘เสียงความเจ็บปวด’ ‘เสียง…ทุ้มหนัก’ และ ‘ความถี่ของเสียง’ เสียงแรกอยู่ในความรู้สึกของเพร์เค่นซึ่งปวดแผลบริเวณหัวเข่า เสียงที่กล่าวถึงสองครั้งหลังเป็นความขยาย ‘เสียงกระแทกกระทบ’ ซึ่งผู้อ่านยังไม่ทราบว่าเป็นเสียงใด

          ‘เสียงตีระฆัง’ ในย่อหน้าสุดท้ายอ้างกลับไปถึง ‘เสียงความเจ็บปวด’ ในย่อหน้าก่อนย่อหน้า สุดท้ายนี้พูดถึงเสียงดังกล่าวอีก ๓ ครั้ง ‘…ที่ได้ยินเสียง’ ‘เสียงซึ่งได้ยินเมื่อครู่’ และ ‘เสียงทุบหนัก’ ส่วน ‘กล้องส่องทางไกล’ ในบรรทัดแรก เริ่มบทบาทของการมองหรือจักษุสัมผัสเพื่อหาที่มาของเสียง เริ่มจากการมองเห็นเลือนราง เพราะต้องมองผ่านหมอกสีน้ำเงินอันเกิดจากความร้อน การมองนั้นชัดขึ้นเมื่อเกิด ‘ประกายวาบ’ ในท้ายย่อหน้า แต่ผู้อ่านก็ยังไม่ทราบว่าเกิดจากสิ่งใด ผู้เล่าเรื่องชักนำผู้อ่านให้เข้าใจในตอนแรกว่าอาจเป็นแสงอาทิตย์กระทบผิวน้ำ ‘แต่บริเวณนั้นไม่มีแม่น้ำ’

         ในย่อหน้าถัดมาซึ่งมิได้คัดมาเป็นตัวอย่าง ผู้อ่านรู้ว่า ‘ประกายวาบ’ นั้นเกิด ‘ขึ้นๆ ลงๆ เป็นระยะเหมือนเสียงที่ดังมา’ กล้องส่องทางไกลช่วยให้มองเห็นกระโจมที่พักและกระโจมปืน ประกายวาบนั้นเกิดในบริเวณใกล้ๆ ในย่อหน้าบรรยายอีกย่อหน้าหนึ่ง จึงปรากฏคำบรรยายว่า ‘เสียงฆ้อนกระทบสมอบก’ เฉลยให้ผู้อ่านทราบว่า ‘เสียงกระแทกกระทบ’ ในย่อหน้าบรรยาย ๕ ย่อหน้าก่อน โดยไม่นับย่อหน้าคำสนทนา คือเสียงฆ้อนกระทบสมอบก ซึ่งหมายความว่ากองกำลังคุ้มกันกลุ่มผู้สร้างทางรถไฟคืบหน้าไป ทุกขณะ อารยธรรมก็จะเข้ามาครอบงำวัฒนธรรมท้องถิ่น

         ในการแปล หากไม่ได้อ่านต่อเนื่องอย่างระมัดระวังโดยละเอียดและไม่ได้อ่านหลายเที่ยว ก็จะมองไม่เห็นภาพอันเกิดจากเสียงตั้งแต่ประโยคแรก คือ ‘เสียงกระแทกกระทบแว่วมาเป็นระยะ’ ยิ่งผู้ประพันธ์นำไปผูกเปรียบเทียบกับธรรมชาติแวดล้อม (ป่า ความร้อน แสงแดด กลุ่มควัน) ความเชื่อของชาวบ้าน (ผีไพร) และความเจ็บปวดอันเกิดจากแผลร้ายที่หัวเข่าของตัวละครเอก รวมทั้งความกังวลว่าจะถูกพวกมอยและกองกำลังโจมตี ภาพอันเกิดจากเสียงจึงใช้เวลายาวนาน หรือใช้เนื้อที่ยาวหลายย่อหน้ากว่าจะประกอบรวมขึ้นเป็นภาพสมบูรณ์ เมื่อไม่เห็นภาพสมบูรณ์ ผู้แปลย่อมแปลไม่ได้

         ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นบทความว่า ภาษาของมาลโรซ์ในเรื่อง ราชมรรคา เป็นภาษายาก เปี่ยมด้วยอุปมาและอุปลักษณ์ ในที่นี้จะใช้บางประโยคจากตัวอย่างที่ ๕ ข้างต้นนี้ เพื่อศึกษาในแง่ของการสร้างภาพพจน์

เสียงกระแทกกระทบแว่วมาเป็นระยะ แล้วจางหายไปในความสงัดเงียบชวนง่วงงุน ราวกับว่าเสียงนั้นเกิดจากกลุ่มควันลอยสูงซึ่งละล่องอย่างไม่ยอมหยุดคล้ายผีไพร ผ่านความกว้างใหญ่ไพศาล เสียงนั้นยังค่อยเกินกว่าที่จะก้องกระจายไปทั่วขุมนรกอันเจิดจ้าด้วยแสงสว่างแห่งนี้ จึงถูกกลืนหายไปมิต่างจากนกที่ร่วงผล็อยดิ่งลงดุจหินหล่นสู่ทิวไม้หนาทึบพลันที่โผล่พ้นออกมา ด้วยตระหนกในแรงปะทะแห่งดวงตะวัน เสียงซึ่งสูญสลายไปในแสงสว่างนั้นเว้นช่องว่างห่างสม่ำเสมอ จึงฟังดูคล้ายการประกาศอันศักดิ์สิทธิ์จากดาวเคราะห์ห่างไกลดวงอื่น (หน้า ๒๑๒-๒๑๓)

           ในข้อความข้างต้นนี้ มีการใช้อุปมา ๔ แห่ง อุปลักษณ์ ๑ แห่ง ‘ผีไพร’ เป็นข้ออุปมาของ ‘กลุ่มควันลอยสูงซึ่งละล่องอย่างไม่ยอมหยุด’ ‘ขุมนรก’ เป็นอุปลักษณ์ หมายถึงความร้อนจัดในบริเวณนั้น ‘มิต่างจากนกที่ร่วงผล็อยดิ่งลง’ เป็นข้ออุปมาของ ‘เสียงนั้น…จึงถูกกลืนหายไป’ ‘ดุจหินหล่น’ เป็นข้ออุปมาของ ‘นกที่ร่วงผล็อยดิ่งลง’ และเป็นอุปมาซ้อนอุปมา ‘การประกาศอันศักดิ์สิทธิ์จากดาวเคราะห์ห่างไกลดวงอื่น’ เป็นข้ออุปมาของ ‘เสียงซึ่งสูญสลาย…จึงฟังดู’

           ข้อความที่แปลยากคือ อุปมาซ้อนอุปมา เพราะจะต้องเห็นภาพนกที่บินออกจากทิวไม้หนาทึบ ซึ่งใต้ทิวไม้ย่อมมีแต่แสงสลัว เมื่อนกโผล่ออกมา ก็เผชิญกับความร้อนจัดและแสงสว่างจ้า (‘ขุมนรก’ และ ‘แรงปะทะแห่งดวงตะวัน’) จึงตกลงไปในทิวไม้ทันที เหมือนหินหล่น หินเป็นของมีน้ำหนัก อาการตกลงไปของนกจึงเป็นอาการร่วงผล็อยดิ่งลง ‘ร่วงผล็อย’ บอกการสิ้นเรี่ยวแรง (เพราะแพ้แสงอาทิตย์ร้อนแรง) ‘ดิ่งลง’บอกว่าตกแบบของมีน้ำหนัก อาการร่วงผล็อยดิ่งลงเกิดขึ้นทันทีที่โผล่พ้นออกมา จึงต้องเลือกระหว่างคำว่า ‘พลัน’ กับ ‘ทันที’ ว่าจะใช้คำใดบอกความเร็วของเวลาที่เกิดเหตุการณ์ เสียงของ ‘พลัน’ สั้นกว่า กระชับกว่า ‘ทันที’ และยังสัมผัสอักษรกับ ‘โผล่พ้น’ สัมผัสอักษร ‘ท’ มีอยู่แล้วใน ‘ทิวไม้หนาทึบ’ จึงไม่จำเป็นต้องเก็บ ‘ทันที’ ไว้สัมผัสต่อเนื่อง และยังมี ‘ที่’ ต่อจาก ‘พลัน’ อยู่แล้วด้วย จึงใช้ ‘พลันที่’ ส่วนคำว่า‘แรงปะทะ’ เดิมใช้ ‘อานุภาพ’ บรรณาธิการต้นฉบับแปลเสนอคำว่า ‘แรงปะทะ’ ซึ่งอธิบายอาการ ‘ร่วงผล็อยดิ่งลง’ ได้ดีกว่า ขณะที่แปลประโยคอุปมาซ้อนอุปมานี้ ได้ทดลองจัดเรียงคำอยู่หลายครั้งว่าจะใช้ ร่วงผล็อยลงดิ่ง หรือ ร่วงผล็อยดิ่งลง ทิวไม้ทึบหนา หรือ ทิวไม้หนาทึบ ในแง่ของโครงสร้างประโยคก็เลือกระหว่าง ‘มิต่างจากนกที่ตระหนกในแรงปะทะแห่งดวงตะวัน จึงร่วงผล็อยดิ่งลงดุจหินหล่นสู่ทิวไม้หนาทึบพลันที่โผล่พ้นออกมา’ กับประโยคที่คัดมาข้างต้นนี้ หลังการเลือกคำ การหาตำแหน่งวางคำ การเรียงวลีหรือการจัดโครงสร้างประโยค และการอ่านออกเสียง ก็ได้ประโยคแปลที่คัดมาข้างต้นนี้

“ข้อความเพียงไม่กี่บรรทัดนี้สร้างภาพที่ซ่อนความหมายไว้มากมาย การแปลโดยเก็บคำของนักประพันธ์ไว้ สร้างภาพพจน์เดียวกัน ทำให้ตัวบทยังคงความลุ่มลึกอยู่ได้ วิเคราะห์ได้ลึกซึ้งเช่นเดียวกับตัวบทต้นฉบับ”

ตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นการใช้อุปลักษณ์ต่อเนื่อง

เมื่อไฟราลง ความมืดทึมก็ถาโถมเข้าปะทะซากจากท้องทะเลเหล่านี้ เหลือโผล่พ้นมาเพียงปลายหอกระเกะระกะ ไข้ขึ้นสูงจนทำให้เขามองเห็นซากเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งนิ่งสนิทปราศจากชีวิต รัตติกาลโหมกระหน่ำความป่าเถื่อนที่เปื่อยเน่านี้ บดบังไว้เหมือนป่าปกคลุมปราสาทหิน แต่แล้วคลื่นความมืดก็แตกกระจายไป ศีรษะทั้งสิ้นปรากฏขึ้นมาใหม่ นัยน์ตาสะท้อนแสงสีแดงจากกองเพลิงส่งต่อเนื่องจนสุดห้วงลึกแห่งความมืดสลัว (หน้า ๑๘๙)

           ในบริบทของเรื่อง พวกมอยนั่งปิดล้อมโกล๊ดและเพร์เค่นตลอดทั้งคืน รอการตัดสินใจของหัวหน้าในตอนเช้าว่าจะรับข้อเสนอของเพร์เค่นหรือไม่ พวกมอยนั่งสงบเฉยในความมืด ผู้เล่าเรื่องใช้อุปลักษณ์เรียกพวกมอยว่า ‘ซากจากท้องทะเล’ และอธิบายต่อว่าเพราะเพร์เค่นไข้ขึ้นสูง จึงเห็นพวกมอยซึ่งนั่งเฉยเป็น ‘สิ่งนิ่งปราศจากชีวิต’ เป็นซาก การใช้อุปลักษณ์ ‘ท้องทะเล’ เพราะในป่าดงดิบมีความชื้นสูงมาก และเรื่องความชื้นนี้ผู้ประพันธ์กล่าวถึงมาโดยตลอด นอกจากนี้ พวกมอยรอคำสั่งจากหัวหน้าของพวกเขาเท่านั้น พวกเขาไม่คิดเอง พวกเขาจึงมิต่างจากซาก อุปลักษณ์ ‘ซากจากท้องทะเล’ ต่อเนื่องด้วยคำว่า ‘คลื่น’ ใน‘คลื่นความมืด’ คำกริยา ‘ถาโถม’ ‘โหมกระหน่ำ’ ‘แตกกระจาย’ เป็นชุดคำกริยาของอุปลักษณ์ ‘ท้องทะเล’ ทั้งสิ้น

           นอกจากอุปลักษณ์แล้ว ยังมีอุปมา ๑ แห่ง คือ ‘เหมือนป่าปกคลุมปราสาทหิน’ ข้ออุปไมยคือ ‘รัตติกาลโหมกระหน่ำความป่าเถื่อนที่เปื่อยเน่านี้’ ข้ออุปมานำมาจากการผจญภัยของโกล๊ดและเพร์เค่นเอง ขณะไปเสาะหาศิลาจำหลักภาพ คำว่า ‘ความป่าเถื่อน’ ในข้ออุปไมยเป็นอุปลักษณ์ หมายถึง พวกมอยที่ปิดล้อมอยู่ อุปลักษณ์คำนี้แสดงความน่ากลัวของพวกมอย คำว่า ‘ที่เปื่อยเน่า’ อ้างอิงกลับไปยังอุปลักษณ์คำแรก ‘ซากจากท้องทะเล’ เมื่อเป็น ‘ซาก’ จึงเปื่อยเน่า ในขณะเดียวกันก็อ้างอิงกลับไปยังบรรยากาศในป่า ดงดิบชุ่มชื้น ซึ่งคำว่า ‘เปื่อยเน่า’ ปรากฏบ่อยครั้งมากในนวนิยายเรื่องนี้ เพราะผู้ประพันธ์เจตนาให้เห็นอันตรายจากป่าดงดิบในเขตร้อน ซึ่งเป็นภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างไปสำหรับคนผิวขาว

           จาก ‘ความมืดทึมก็ถาโถม’ ถึง ‘คลื่นความมืดก็แตกกระจายไป’ นั่นก็คือจากไฟรา จนถึงการจุดไฟหรือเติมไฟอีกครั้ง เมื่อความมืดถาโถมเข้ามา สิ่งที่มองเห็นก็เหลือเพียงปลายหอก เพราะโลหะนั้นวาววับในตัว จึงมองเห็นได้ในความมืด เมื่อคลื่นความมืดแตกกระจายไป สิ่งที่เห็นใหม่คือนัยน์ตาของพวกมอยซึ่งจ้องตรงมา ‘นัยน์ตาสะท้อนแสงสีแดงจากกองเพลิงส่งต่อเนื่องจนสุดห้วงลึกแห่งความมืดสลัว’ หมายความว่า พวกมอยมีจำนวนมาก นั่งเรียงรายต่อเนื่องหลายชั้นจนเลยรัศมีแสงไฟ

           จะเห็นได้ว่านักประพันธ์เสนอภาพที่ตัวละครมองเห็นในความมืดสนิท และยามที่มีแสงจากกองเพลิงโดยใช้อุปลักษณ์และอุปมา ข้อความเพียงไม่กี่บรรทัดนี้สร้างภาพที่ซ่อนความหมายไว้มากมาย การแปลโดยเก็บคำของนักประพันธ์ไว้ สร้างภาพพจน์เดียวกัน ทำให้ตัวบทยังคงความลุ่มลึกอยู่ได้ วิเคราะห์ได้ลึกซึ้งเช่นเดียวกับตัวบทต้นฉบับ

“ความรู้ทุกเรื่องที่ผู้แปลต้องรู้ก่อนแปล ผู้ตรวจแก้หรือบรรณาธิการต้นฉบับแปลก็ต้องรู้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชีวประวัติและโลกทัศน์ของนักประพันธ์ กลวิธีการประพันธ์ บริบททางสังคมและการเมืองของวรรณกรรมเรื่องนั้น คุณสมบัติของบรรณาธิการต้นฉบับแปลที่สำคัญยิ่งได้แก่ ความสามารถในการใช้ภาษาที่ใช้แปลดีกว่าผู้แปล รู้ตรรกะภาษาไทย ใช้ได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง มีคลังคำ”

           อนึ่ง ในนวนิยายเรื่องนี้ มีฉากสังวาส (ตอนที่ ๓ บทที่ ๕) ผู้แปลถามตนเองว่าควรคงไว้หรือตัดออก เมื่อพิจารณาประเด็นการสร้างบุคลิกลักษณะตัวละคร แก่นเรื่องย่อยว่าด้วยความแก่ และแก่นเรื่องหลักว่าด้วยความตาย ซึ่งเป็นปัญหาฝังใจเพร์เค่น ตัวละครเอกนักเผชิญโชคผจญภัยวัย ๕๐ รวมทั้งพิจารณาการบรรยายจิตสำนึกของตัวละครในฉากดังกล่าว จึงได้เห็นว่าฉากสังวาสนี้ ช่วยอธิบายพัฒนาการของตัวละคร และเป็นส่วนหนึ่งของแก่นเรื่องย่อยว่าด้วยความแก่ และแก่นเรื่องหลักว่าด้วยความตาย ฉากนี้จำเป็นต้องคงไว้ดังที่นักประพันธ์เสนอมา นักประพันธ์ไม่ได้เขียนขึ้นเพียงเพื่อให้ครบทุกรสชาติเท่านั้น

           ในแง่ของการแปลฉากสังวาสในวรรณกรรม ผู้แปลจะต้องระวังอย่างยิ่งในเรื่องระดับของคำ ผู้ประพันธ์จะใช้คำสุภาพ คำกวี คำซ่อนนัย รวมทั้งใช้อุปมาและอุปลักษณ์ ผู้แปลจะต้องค้นหาและเลือกคำที่อยู่ในระดับเดียวกับต้นฉบับให้ได้ ฉากสังวาสในฉบับแปลจะได้คงความเป็นวรรณคดีเช่นเดียวกัน ฉากนี้ใน ราชมรรคา มีความยาวเพียง ๒ ย่อหน้า ผู้แปลใช้เวลาแปลถึง ๘ ชั่วโมงเต็ม

           สำหรับเรื่องการตรวจแก้ต้นฉบับแปล ในที่นี้หมายถึงต้นฉบับแปล ราชมรรคา ความรู้ทุกเรื่องที่ ผู้แปลต้องรู้ก่อนแปล ผู้ตรวจแก้หรือบรรณาธิการต้นฉบับแปลก็ต้องรู้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชีวประวัติและโลกทัศน์ของนักประพันธ์ กลวิธีการประพันธ์ บริบททางสังคมและการเมืองของวรรณกรรมเรื่องนั้น คุณสมบัติของบรรณาธิการต้นฉบับแปลที่สำคัญยิ่งได้แก่ ความสามารถในการใช้ภาษาที่ใช้แปลดีกว่าผู้แปล รู้ตรรกะภาษาไทย ใช้ได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง มีคลังคำ

           นอกจากนี้ยังต้องมีทัศนคติที่ดีในการทำงานตรวจแก้ กล่าวคือ ทำให้ผู้อ่านรู้สึก ‘ดี’ ต่อเรื่องที่อ่าน ต่อผู้ประพันธ์ และต่อผู้แปล

           ขั้นตอนการทำงานระหว่างผู้แปลกับบรรณาธิการต้นฉบับแปลมีหลายรูปแบบ อาจไม่มีการสื่อสารระหว่างผู้แปลกับบรรณาธิการต้นฉบับแปล อาจสื่อสารทางอ้อม หรือสื่อสารโดยตรง ดังตารางต่อไปนี้

ขั้นตอนการทำงานระหว่างผู้แปลกับบรรณาธิการต้นฉบับแปล

ตัวอย่างการตรวจแก้

           วรรณกรรมต่างประเทศเป็นงานที่ผ่านมิติเวลาและมิติสถานที่มาสู่ผู้อ่านต่างชาติ ต่างภาษาและต่างวัฒนธรรม ผู้ประพันธ์ส่งสาร คืองานวรรณกรรม มาสู่ผู้อ่านหรือผู้รับสาร ระหว่างผู้ประพันธ์กับผู้อ่าน การสื่อสารเป็นการสื่อสารแบบอิสระ ผู้อ่านจะเข้าใจ เข้าถึงผู้ประพันธ์มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ ประสบการณ์ส่วนตัวและประสบการณ์ในการอ่านของผู้อ่านเอง

           สำหรับผู้ที่ไม่รู้ภาษาต่างประเทศซึ่งจำเป็นต้องอ่านวรรณกรรมแปล ผู้แปลคือผู้ที่ทำหน้าที่แทนนักประพันธ์ เนื้อหา สาระ วรรณศิลป์ของผู้ประพันธ์ตกอยู่ในกำมือของผู้แปล การสื่อสารระหว่างผู้ประพันธ์ (ซึ่งถูกแทนที่โดยผู้แปล) กับผู้อ่าน จะบิดเบี้ยวหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ของผู้แปลในการทำงานแปล ซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับในทุกองค์ประกอบ ทุกแง่ทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นคำ ลีลา น้ำเสียงหรือระดับภาษา

           เนื่องจากผู้แปลไม่ใช่ผู้ประพันธ์ ผู้แปลจึงจำเป็นต้องเข้าให้ถึงการทำงานของผู้ประพันธ์ ต้องรู้ให้ได้ว่าเขาคิดอย่างไร จึงเขียนออกมาเช่นนั้น เพื่อที่งานแปลจะไปได้ถึงระดับเดียวกัน เป็นงานสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับงานแต่งได้ การสื่อสารระหว่างงานวรรณกรรมกับผู้อ่านจึงจะเกิดประสิทธิผลได้สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

           ขั้นตอนการทำความเข้าใจต้นฉบับ เข้าใจและเข้าถึงนักประพันธ์ ขั้นตอนการถ่ายทอดความหมายหรือการแปล ขั้นตอนการตรวจสอบและแก้ไขเป็นหน้าที่ของผู้แปล ทว่าอย่างไรก็ดี ขณะแปลและตรวจสอบแก้ไขนั้น เนื่องจากผู้แปลเข้าใจดีเพราะรู้ภาษาต้นฉบับ จึงอาจมองไม่เห็นว่าภาษาแม่ที่ใช้ถ่ายทอดอยู่นั้น หาได้แสดงความหมายตามที่ผู้แปลเข้าใจในภาษาเดิมโดยครบถ้วนไม่

           ดังนั้น ก่อนที่งานแปลจะออกสู่สาธารณะ จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่จะมีผู้รู้วรรณศิลป์ แม่นภาษา มีนัยน์ตามองเห็นภาพพจน์ มาทดลองอ่านงานแปลนั้นก่อน พูดคุยกับผู้แปลก่อนในประเด็นที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ บุคคลผู้นี้จะต้องตระหนักในความสำคัญของการตรวจแก้ต้นฉบับแปล และทำงานละเอียดถี่ถ้วนโดยไม่เกรงใจผู้แปล เพราะการเคารพผู้ประพันธ์เป็นสิ่งสำคัญกว่า

           บุคคลผู้นี้หรือบรรณาธิการต้นฉบับแปล คือผู้อ่านคนแรกที่จะสื่อสารกับผู้ประพันธ์โดยผ่านงานแปล หากการสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่น นั่นคือมีความผิดพลาดหรือความไม่ชัดเจนในการแปลน้อยที่สุด ผู้แปลก็จะได้มั่นใจว่าได้ทำงานในภาษาแม่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์และซื่อตรงต่อต้นฉบับ หากไม่ใช่ก็จะได้แก้ไขก่อนที่จะตีพิมพ์ออกสู่สาธารณะ

           ดังนี้ ผู้แปลจึงจะมิได้ชื่อว่าเป็นฆาตกร และนักประพันธ์ก็จะมิถูกฆาตกรรม

“ก่อนที่งานแปลจะออกสู่สาธารณะ จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่จะมีผู้รู้วรรณศิลป์ แม่นภาษา มีนัยน์ตามองเห็นภาพพจน์ มาทดลองอ่านงานแปลนั้นก่อน พูดคุยกับผู้แปลก่อนในประเด็นที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ บุคคลผู้นี้จะต้องตระหนักในความสำคัญของการตรวจแก้ต้นฉบับแปล และทำงานละเอียดถี่ถ้วนโดยไม่เกรงใจผู้แปล เพราะการเคารพผู้ประพันธ์เป็นสิ่งสำคัญกว่า”

           ขั้นตอนการตรวจแก้ต้นฉบับแปลเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำงานแปล เป็นส่วนหนึ่งของการแปล การตรวจสอบโดยผู้แปลเองนั้นไม่เพียงพอ คนเราย่อมไม่อาจเขี่ยขี้ผงในดวงตาของตนเองได้ ในงานที่เขียนเองแต่งเอง ยังต้องขอให้เพื่อนช่วยอ่าน แล้วงานแปลวรรณกรรมซึ่งเป็นงานละเอียดอ่อน คำแต่ละคำสร้างความหมาย สร้างภาพพจน์ จะไม่มีผู้อ่านคนแรกมาตรวจสอบ ตรวจแก้ ก่อนที่งานแปลเรื่องนั้นจะออกสู่สาธารณะได้อย่างไร

           นักประพันธ์คุณภาพย่อมพินิจตริตรองหาคำที่เหมาะในแต่ละวลี แต่ละประโยค ผู้แปลพึงให้เวลาในการค้นหาคำเช่นกัน บรรณาธิการต้นฉบับแปลที่มากด้วยประสบการณ์ย่อมช่วยผู้แปลได้

           บรรณาธิการต้นฉบับแปลที่ดีถือเป็นเกียรติยศแก่ผู้แปลและงานแปล อีกทั้งเป็นมิตรแท้ของผู้ประพันธ์ ผู้แปล และผู้อ่าน

* รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า