โครงการหนังสือ การอ่าน และการเรียนรู้

สิ่งที่เคยเสนอรัฐบาล ให้เป็นเรื่องเร่งด่วน

ที่เสนอโดยคณะทำงานโครงการสถาบันหนังสือแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖

ระหว่างเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ – เมษายน ๒๕๔๘

การส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ จำเป็นต้องพัฒนาระบบหนังสือของประเทศโดยรวม อย่างพร้อมเพรียงเพราะปัญหาเรื่องการอ่านการเรียนรู้ และระบบหนังสือ เป็นสิ่งเกี่ยวข้องกัน จะแยกแก้ปัญหาทีละจุดไม่ได้ ไม่ว่าจะในระยะเร่งด่วน หรือระยะยาว ดังนั้น จึงต้องพิจารณาแก้ปัญหาองค์กรและบุคลากร ตลอดจนระบบสำคัญ ดังนี้
           ๑. นักเขียน นักแปล (รวมทั้งนักเล่าเรื่อง นักเขียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้)
           ๒. บรรณาธิการ บรรณาธิการต้นฉบับ บรรณาธิการต้นฉบับแปล
           ๓. สำนักพิมพ์
           ๔. สายส่ง ร้านจำหน่ายหนังสือ แผงหนังสือ
           ๕. ห้องสมุด ห้องหนังสือ ระบบยืมหนังสือ (ระบบหนังสือสาธารณะ การหมุนเวียนหนังสือ)
           ๖. ครู-อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาทุกระดับ และนักวิจารณ์
           ๗. บรรณารักษ์
           ๘. พ่อแม่ ผู้ปกครอง
           ๙. บุคลากรผู้ประกอบการวิชาชีพในระบบหนังสือ ทุกประเภท ทุกสาขา
           ๑๐. ระบบจัดการศึกษาแนวใหม่ให้เอื้อต่อการพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
           ๑๑. ระบบจัดสรรงบประมาณ การจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุดและห้องหนังสือของชาติ
           ๑๒. ระบบสังคมที่แตกต่างกัน (การส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ตามสภาพท้องถิ่นและสังคม)

๑. โครงการห้องหนังสือชุมชน (ตัวอย่าง)

           นอกเหนือจากระบบห้องสมุดที่กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินอยู่แล้วหรือกำลังเริ่มโครงการใหม่ เพื่อเป็นการเสริมการอ่านให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โครงการนี้จะดำเนินการเกี่ยวกับการอ่านดังนี้
           ๑.๑ ห้องหนังสือชุมชน ในเมือง (ตัวอย่าง) เพื่อเป็นแนวทางก่อตั้งห้องหนังสือในอาคารสถานที่ซึ่งไม่ใช้แล้วของทางราชการ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหลายด้าน แนวคิดคือนำสถานที่ทิ้งร้างว่างเปล่าของทางราชการมาดัดแปลงเป็นห้องหนังสือ เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นก็มอบให้ชุมชนบริหารจัดการ
           ในการนี้ เห็นว่ามีสถานที่ซึ่งมิได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ของทางราชการ สมควรนำมาดำเนินงานเป็นแบบอย่าง (เป็นตัวอย่างการจัดตั้งห้องหนังสือชุมชนในเมือง) คือ
           อาคารโรงพิมพ์คุรุสภา (เก่า) ทรัพย์สินของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ถนนพระอาทิตย์ บางลำพู กรุงเทพฯ ดัดแปลงชั้นล่างเป็นห้องหนังสือแนวใหม่ ประกอบด้วยร้านเครื่องดื่ม และห้องหนังสือให้ยืมหนังสือออก ชั้นบนเป็นสถานที่เสวนา อ่านหนังสือ และแสดงนิทรรศการต่างๆ ตลอดจนงานศิลปะ
           ๑.๒ ห้องหนังสือพิเศษ
                   ๑.๒.๑ ห้องหนังสือในขบวนรถไฟโดยสารระยะไกล จัดโดยให้เอกชนรับผิดชอบ ๑ โบกี้ เป็นห้องดื่มกาแฟของว่าง และห้องอ่านหนังสือ นิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ รวมทั้งห้องหนังสือยืมกลับไปอ่านในที่นั่งของตน (วางเงินมัดจำหนังสือ) ประสานงานการรถไฟแห่งประเทศไทย
                   ๑.๒.๒ ห้องหนังสือในท่าอากาศยาน (ยืมอ่านช่วงสั้นระหว่างรอเครื่องบิน ใช้บัตรเลขที่นั่งหรือบัตรประจำตัวประชาชน บัตรข้าราชการ ฯลฯ เป็นบัตรยืม) และจัดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ใช้ระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่คิดมูลค่า ประสานงานการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย
                   ๑.๒.๓ ห้องหนังสือเคลื่อนที่ คือการนำหนังสือไปถึงมือเด็กและเยาวชนในรูปแบบใหม่โดยดัดแปลงรถโดยสารประจำทาง นำมาตกแต่งด้วยรูปแบบและสีสรรพ์ดึงดูดความสนใจ นอกจากจะได้ผลในการนำหนังสือเข้าถึงตัวผู้อ่านโดยตรงแล้ว ยังเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจด้วย (โดยเฉพาะการนำหนังสือเข้าไปยังหมู่บ้านจัดสรร โรงงานที่มีพนักงานจำนวนมาก หรือท้องถิ่นห่างไกล)
                   ๑.๒.๔ ส่งเสริมและพัฒนาห้องสมุดในเรือนจำและสถานกักกันต่างๆ อย่างรีบด่วน
                   ๑.๒.๕ ส่งเสริมและพัฒนาห้องสมุดในกรม กองทหาร ทุกเหล่าทัพ

๒. โครงการกองทุนนักเขียนและต้นฉบับ (ตัวอย่าง)

          เพื่อส่งเสริมการเขียนและกระตุ้นนักเขียนรุ่นใหม่ให้ผลิตผลงานมีคุณภาพ ควรจัดงบประมาณตั้งกองทุนเพื่อผลิตผลงานของนักเขียน และการพิมพ์หนังสือของนักเขียนไทยให้มากยิ่งขึ้น (ในปัจจุบันนี้การพิมพ์หนังสือแปลมีปริมาณมากกว่าหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนไทยในอัตราที่น่าวิตก)
           การตั้งกองทุนนักเขียนและต้นฉบับ ดำเนินการโดยตั้งคณะกรรมการในส่วนกลางและภูมิภาคโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา

๓. โครงการรางวัลน่าอ่าน

           เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการอ่าน ในชั้นต้น ควรก่อตั้งรางวัลการอ่านทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก จนถึงอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป จัดทุกเดือน และมีการแข่งขันเป็นงานใหญ่ในรอบปี
           รางวัลน่าอ่าน นอกจากจะมอบแก่บุคคลแล้ว ยังพิจารณามอบแก่หน่วยงานต้นสังกัดด้วย เช่น โรงเรียนหรือสถานศึกษา สถานที่ทำงาน ฯลฯ
           โครงการรางวัลน่าอ่านนี้ จะขยายเป็นรางวัลอื่นต่อไป เช่น รางวัลนักเขียนใหม่ รางวัลต้นฉบับ รางวัลหนังสือประเภทต่างๆ เช่น สารคดี รางวัลวรรณกรรมเยาวชน เรื่องสั้น นวนิยาย รางวัลหนังสือแปล รางวัลห้องสมุดและห้องหนังสือ รางวัลสำนักพิมพ์ รางวัลบรรณาธิการ รางวัลร้านขายหนังสือ ฯลฯ

๔. โครงการหนังสือหมุนเวียน

           ๔.๑ เพื่อส่งเสริมการอ่านระดับโรงเรียนอย่างได้ผล ควรดำเนินการนำร่องโครงการหนังสือหมุนเวียน ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และสถาบันอุดมศึกษาที่สอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ โครงการนำร่องระยะ ๖ เดือนแรก เริ่มในภูมิภาคต่างๆ ๑๒ จังหวัด ห้องสมุดโรงเรียน ๔๘ แห่ง
           ๔.๒ ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร จัดระบบหมุนเวียนหนังสือในห้องสมุด กทม.ที่มีอยู่แล้วพร้อมกับจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

๕. โครงการด้านวิชาการ

          เพื่อส่งเสริมคุณภาพ และมาตรฐานบุคลากรในวงการหนังสือ
           ๕.๑ ให้ความร่วมมือ สนับสนุน โครงการอบรมบุคลากรในวิชาชีพหนังสือ ซึ่งคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการอยู่ ดังนี้
                   ๕.๑.๑ การอบรม วิชาหนังสือ หลักสูตรเร่งรัดสำหรับบุคคลในวิชาชีพ
                   ๕.๑.๒ การอบรม วิชาเสวนา (ความคิดและจินตนาการ)
                   ๕.๑.๓ การอบรม วิชาคิดและเขียนวรรณกรรมเยาชน
                   ๕.๑.๔ การอบรม วิชาบรรณาธิการต้นฉบับ และบรรณาธิการต้นฉบับแปล
           ๕.๒ เปิดหลักสูตรนำร่องสำหรับผู้สอนในสถาบันการศึกษาที่ประสงค์จะเปิดสอนวิชาการว่าด้วยหนังสือตามข้อ ๔.๑
           ๕.๓ ริเริ่มโครงการฝึกงาน สำหรับนิสิตปริญญาตรีปีสุดท้าย ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ หลักสูตรบรรณารักษ์แนวใหม่และการส่งเสริมการอ่าน โครงการนำร่อง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เพื่อฝึกปฏิบัติงานในห้องสมุดและห้องหนังสือต่างๆ เป็นเวลา ๖ เดือน
           ๕.๔ ริเริ่มโครงการเสวนาแลกเปลี่ยนทัศนะและความรู้ระหว่างนักเขียน สำหรับนักเขียนใหม่ นักเขียนอาชีพ และผู้สนใจงานเขียน
           ๕.๕ เสนอให้สถาบันอุดมศึกษาเปิดหลักสูตรใหม่อันเกี่ยวข้องกับวิชาชีพต่างๆ ด้านหนังสือ

๖. โครงการผลิตหนังสือจำเป็น และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

           ๖.๑ โครงการแปลหนังสือสำคัญเร่งด่วนตามคำแนะนำของ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี เพื่อแจกจ่ายแก่ข้าราชการและผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมอบให้ห้องสมุดทั่วประเทศ
           ๖.๒ แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาต้นฉบับงานค้นคว้าวิจัยที่เป็นสมบัติของชาติ อันเป็นประโยชน์และหนังสือสำคัญที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อจัดพิมพ์เป็นรูปหนังสือ แจกจ่ายแก่ห้องสมุด
           ๖.๓ จัดตั้งเว็บไซต์ เพื่อเป็นสื่อกลางแสดงความคิดเห็น และขยายเป็นศูนย์การเรียนรู้ การสื่อสารของโครงการสถาบันพัฒนาความรู้แห่งชาติในอนาคต (โครงการหลักสำหรับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหน่วยงานอื่นดำเนินการอยู่แล้ว)

๗. โครงการประชาสัมพันธ์การอ่านและการเรียนรู้

          ๗.๑ รายการโทรทัศน์ จัดรายการโทรทัศน์บันเทิงแฝงสาระ ให้แนวบันเทิงนำสาระ เพื่อกระตุ้นการอ่านของเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป รวมทั้งเสนอข่าวสารและความคืบหน้าของโครงการส่งเสริมการอ่านและระบบหนังสือของชาติ ตลอดจนรายการที่น่าสนใจอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้อง
           ๗.๒ รายการวิทยุ ขอความร่วมมือใช้เวลารายการวิทยุของทางราชการ และวิทยุชุมชน ตลอดจนสถานีวิทยุกระจายเสียงของสถาบันศึกษา จัดรายการส่งเสริมการอ่านและระบบหนังสือของชาติ รายการแข่งขันชิงรางวัล รายการบันเทิงอื่นๆ ที่แฝงสาระการอ่านได้แนบเนียน ฯลฯ
           ๗.๓ จัดทำนิตยสารเกี่ยวกับหนังสือและวรรณกรรม เป็นสื่อกลางสำหรับการส่งเสริมการอ่านและเสนอข่าวสาร บทความวิชาการ เรื่องราวน่ารู้ในวงการหนังสือและวรรณกรรม ทั้งภายในและต่างประเทศจำหน่ายทั่วไปและแจกจ่ายแก่ห้องสมุดและห้องหนังสือทุกแห่งโดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา ให้มีบทบาทรับผิดชอบหมุนเวียนเป็นบรรณาธิการประจำฉบับ นอกจากจะได้เนื้อหาหลากหลายแล้ว ยังฝึกฝนประสบการณ์ด้านหนังสือ วรรณกรรม และวิชาชีพหนังสือโดยตรงแก่นิสิตนักศึกษาและนักวิชาการท้องถิ่นอีกด้วย
           ๗.๔ ดำเนินงานห้องหนังสือเคลื่อนที่ ประชาสัมพันธ์โครงการในระยะเร่งด่วนและระยะยาว และยังได้ผลทางตรง คือการนำหนังสือไปถึงมือเด็กและเยาวชนในรูปแบบใหม่
           ๗.๕ ร่วมมือกับบริษัทเอกชน ในการประชาสัมพันธ์โครงการ “หนังสือและการเรียนรู้แห่งชาติ” เช่น การพิมพ์คำขวัญในหีบห่อ สลาก และแผ่นโฆษณาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าวัยรุ่น เช่น เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์หรือสารเป็นภัย
           ๗.๖ ร่วมมือกับร้านกาแฟ (ในเมืองใหญ่ หรือห้างสรรพสินค้า) ให้จัดมุมอ่านหนังสือ โดยทางโครงการฯจัดหาหนังสือหมุนเวียนให้ เจ้าของร้านเป็นผู้จัดสถานที่ นิสิตนักศึกษาฝึกงานเป็นผู้ช่วยหรือบริหารโครงการเฉพาะ (โครงการนี้ใช้เงินลงทุนไม่มาก หรืออาจไม่ต้องลงทุน หากเจรจาให้เอกชนเห็นผลประโยชน์ด้านการดึงดูดลูกค้าด้วยมุมหนังสือ ได้ผลดีในกลุ่มวัยรุ่น)
           ๗.๗ การประชาสัมพันธ์ที่ดีและได้ผลที่สุดคือ บุคคลในคณะรัฐบาล ข้าราชการ ผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลควรแสดงให้สาธารณชนเห็นว่า เป็นผู้สนใจ ใฝ่ใจอ่านหนังสือ อย่างน้อยถือหนังสือติดตัว เพราะบุคคลระดับรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้ที่ประชาชนเชื่อถือ (ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าอ่านหนังสือแต่แสดงให้เห็นจริง)

คณะเตรียมการ “โครงการสถาบันหนังสือแห่งชาติ”
๒๒ เมษายน ๒๕๔๖

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า